หน้า 15 กำหนดองค์ประกอบหลัก

หน้า 15



บ้านนกแอ่น แต่ละแห่งจะมีความแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับโครงสร้างเดิมของบ้านแต่ละหลัง ขึ้นอยู่กับขนาดพื้นที่และจำนวนชั้นของอาคาร แต่ที่ต้องมีเหมือนๆกันคือ ส่วนประกอบสำคัญ 3 ประการต่อไปนี้
  • ช่องทาง เข้า-ออก (In-out hole)
  • พื้นที่สำหรับบิน (Swiftlet roving area)
  • พื้นที่เกาะพักและทำรัง (Swiftlet nesting area)
_________________________________________________________


1.ช่องทาง เข้า-ออก (In-out hole)


การกำหนดช่องทาง เข้า-ออก สำหรับบ้านนกแอ่นใหม่ เพื่อให้นกแอ่นบินเข้า-ออก ได้สะดวก ควรมีช่องทางเข้า-ออก เพียงช่องเดียว เพราะยิ่งมากช่อง แสงก็จะเข้าสู่ภายในบ้านนกแอ่นมากขึ้น ที่ปากทางเข้า-ออก จะเป็นที่ติดตั้งลำโพงเสียงเรียกนอก (Swiftlet external chirp) เสียงเรียกนอกเป็นส่วนประกอบที่สำคัญในการดึงดูดให้นกแอ่นเข้าสู่บ้านนกแอ่น ใหม่



ช่องทางเข้า-ออกของบ้านนกแอ่นควรอยู่ตรงไหน (Location Of Entrance Hole)

การกำหนดช่องทาง เข้า-ออก ของบ้านนกแอ่นหากยึดตามหลักของการขึ้นและตกของดวง อาทิตย์ ก็จะหลีกเลี่ยงไม่ให้ช่องทาง เข้า-ออก ของบ้านนกแอ่นอยู่ทางทิศตะวันออกหรือ ทิศตะวันตก เพราะแสงอาทิตย์จะส่องเข้าสู่บ้านนกแอ่นได้ รูปแบบของช่องทาง เข้า-ออก แบบหน้าต่าง จึงควรอยู่ทางทิศเหนือและทิศใต้ แต่นี่ก็ไม่ใช่กฎเกณฑ์ข้อบังคับหากทิศเหนือและทิศใต้มีสิ่งกีดขวางทาง เข้า-ออก เช่น มีตึกสูงบังอยู่ ด้านที่เป็นช่องทางเข้า-ออกของบ้านนกแอ่นควรมีพื้นที่ว่าง ไม่มีสิ่งกีดขวาง เพื่อให้นกแอ่นสามารถบินเล่นได้ หากเป็นบ้านนกแอ่นที่ออกแบบเพื่อสร้างขึ้นมาใหม่จะง่ายต่อการกำหนดช่องทาง เข้า-ออก


กำหนดทิศทางช่องทาง เข้า-ออก ที่ทำมุมกับดวงอาทิตย์ตลอดทั้งปี (ดูบทความ "แสงแดดกับบ้านนกแอ่น")



ขนาดของช่องทางเข้า-ออก

สำหรับบ้านนกแอ่นใหม่ควรมีขนาดที่เหมาะสมเพื่อให้ง่ายต่อการบิน เข้า-ออก ขนาดที่ผู้เชี่ยวชาญหลายท่านและหนังสือหลายเล่มแนะนำคือ 80 x 40 เซนติเมตร ส่วนของผมที่ใช้กับบ้านนกแอ่นของผมเอง ขนาด 100 x 80 เซนติเมตร นกแอ่นสามารถบินเข้าได้พร้อมกันหลายสิบตัว แต่ที่ต้องจำไว้คือ ช่องทาง เข้า-ออก ยิ่งใหญ่แสงสว่างยิ่งเข้าสู่ภายในบ้านนกแอ่นยิ่งมาก อุณหภูมิและความชื้นก็จะคุมยากขึ้น

ช่องทาง เข้า-ออก ควรจะอยู่ซ้าย ขวา หรือ ตรงกลาง ควรอยู่สูงขนาดไหน พื้นที่วงบินของนกแอ่นจะเป็นตัวกำหนดว่าช่องทาง เข้า-ออก ของบ้านนกแอ่นควรจะ อยู่ซ้าย ขวา หรือ ตรงกลาง วงบินของนกแอ่นจะกว้างประมาณ 6 - 8 ฟุต ถ้าบ้านนกแอ่นของท่านกว้างประมาณ 4 - 5 เมตร ช่องทาง เข้า-ออก ไม่ควรอยู่ตรงกลาง ควรอยู่ด้านซ้ายหรือด้านขวา ขอบของช่องทาง เข้า-ออก ด้านที่ใกล้ผนังด้านในควรห่าง 50 เซนติเมตร โดยปกติเมื่อนกแอ่นบินอยู่ในบ้านนกแอ่นจะบินห่างผนังประมาณ 50 เซนติเมตร ดังนั้นเมื่อช่องทาง เข้า-ออก อยู่ด้านซ้ายหรือด้านขวา โดยที่ขอบของช่องทาง เข้า-ออก ด้านที่ ใกล้ผนังด้านในห่าง 50 เซนติเมตร จึงทำให้นกแอ่นบินเข้าสู่บ้านนกแอ่นได้สะดวก และสามารถทำวงบินได้เป็นธรรมชาติ ทำให้นกแอ่นรู้สึกสบาย ส่วนความสูงของช่องทาง เข้า-ออก ขอบด้านบนของช่องทางเข้า-ออก ควรอยู่ที่ระดับห่างจากไม้ตีรัง 50 เซนติเมตร

_______________________________________________________________


2.พื้นที่สำหรับบิน (Swiftlet roving area)

พื้นที่สำหรับบินในที่นี้หมายถึงส่วนของตัวบ้านหรืออาคารที่เราจะนำมาทำ ดัดแปลงหรือสร้างขึ้นมาใหม่เพื่อให้นกแอ่นเข้าอยู่อาศัย โดยทั่วไปนกแอ่นเป็นนกที่ชอบสนุก จะบินร่อน บินวน ทักทาย หยอกล้อกัน ภายในฟาร์มนกแอ่นการมีพื้นที่สำหรับบินที่เพียงพอในบ้านนกแอ่น จะทำให้นกแอ่นรู้สึกปลอดโปร่ง ไม่อึดอัด มีพื้นที่สำหรับลูกนกแอ่นให้หัดบินก่อนออกสู่โลกภายนอก และในส่วนวงบินภายนอกก็คือส่วนรอบๆหอนกที่เรียกว่า ลานบินของนกแอ่น ควรออกแบบให้ถูกหลัก ให้นกแอ่นสามารถมีอิสระในการบินเล่นรอบๆหอนก บินเข้าบินออกได้อย่างคล่องตัวให้เรียนรู้ลักษณะการบิน และ วงบินของนกแอ่นให้ดี เพื่อนำมาใช้ประกอบการออกแบบฟาร์มหรือบ้านนกแอ่นในแต่ละสถานที่




ต่อไปนี้จะเป็นรูปตัวอย่างของบ้านนกแอ่น ทั้งแบบสร้างขึ้นใหม่ทั้งหลัง และแบบดัดแปลงจากอาคารเดิม








[3+D+VIEW+NEW+DESIGN+2.JPG]

[3d+open+roof.JPG]



_______________________________________________________________


3.พื้นที่เกาะพักและทำรัง (Swiftlet nesting area)


[jm1.jpg]


นกแอ่นเกาะพักและทำรังบนไม้ตีรังที่ตียึดตั้งฉากกับเพดาน การมีพื้นที่ของไม้ตีรังที่เพียงพอ ง่ายต่อการเข้าเกาะพักและทำรัง ทำให้นกแอ่นคู่ใหม่ตัดสินใจเข้าอยู่บ้านนกแอ่นใหม่ได้ง่ายขึ้น ส่วนของพื้นที่เกาะพักและทำรังจะติดตั้งลำโพงเสียงเรียกใน (Swiftlet internal chirp) กระจายไปทั่วบริเวณเพื่อให้นกแอ่นได้ยินเสียงเหมือนมีเพื่อนๆอยู่ เพื่อการตัดสินใจเข้าอยู่อย่างถาวรตลอดไป...ส่วนของพื้นที่เกาะ พักและทำรัง คือส่วนที่ต้องให้ความสำคัญเรื่องอุณหภูมิและความชื้นเป็นอย่างยิ่ง อุณหภูมิที่นกแอ่นชื่นชอบที่สุด 28 องศาเซนเซียส ความชื้นที่เหมาะสมที่สุด 85 %



พัฒนาการของไม้ตีรังในบ้านนกแอ่น

ไม้ตีรังที่ติดอยู่บนเพดานในบ้านนกแอ่นปัจจุบันมีความแตกต่างอย่างสิ้นเชิง กับไม้ที่นกแอ่นเกาะและทำรังในบ้านเรือนของชาวบ้านยุคก่อนๆ ความแตกต่างมีทั้งจากชนิดของไม้และขนาดของไม้ที่ใช้ เพื่อความเข้าใจเรื่องไม้ตีรัง จึงควรศึกษาประวัติการพัฒนาการของไม้ตีรังว่ามีความเป็นมาอย่างไร

บ้านนกแอ่นยุคแรกๆได้ถูกพบพ้องกันหรือตรงกันกับการที่เราได้รับรู้ว่า นกแอ่นเป็นนกป่านกทะเลอาศัยอยู่ในถ้ำธรรมชาติตามเกาะแก่งต่างๆกลางทะเล หรือถ้ำบนผืนป่า หน้าผาใกล้ชายฝั่งทะเล ทำรังกระจัดกระจายบนผนังถ้ำ เพราะผนังถ้ำมีความแข็ง นกแอ่นจึงไม่สามารถเกาะได้ง่ายๆเพื่อทำรังทั่วทุกพื้นที่บนผนังถ้ำ ไม่มีส่วนที่เป็นไม้ภายในถ้ำซึ่งนกแอ่นสามารถเกาะและทำรังได้ง่ายกว่า เมื่อภายในถ้ำเกิดความแออัดจากการเพิ่มของประชากรนกแอ่น หรืออุปสรรคอื่นๆ ทำให้นกแอ่นกลุ่มแรกๆได้อพยพจากถ้ำนกแอ่นสู่บ้านเรือนของชาวบ้านเพื่อทำรัง
  • แรกๆนกแอ่นจะทำรังบนกำแพงก่อน ซึ่งมีความคล้ายผนังถ้ำมากกว่าบนไม้
  • บ้านเรือนเก่ามีมุมที่ซ้อนเร้น มีไม้ระแนงใต้หลังคามีโครงเคร่าเพดาน นกแอ่นใช้อุ้งเล็บเกาะบนไม้ ได้ง่ายกว่าบนกำแพง และรังนกเกาะบนไม้ได้ดีกว่าบนกำแพง
  • บ้านเรือนสมัยก่อนส่วนใหญ่ใช้ไม้สัก ดังนั้นผู้คนในยุคนั้นจึงเชื่อว่านกแอ่นชอบทำรังบนไม้สัก
  • บ้านนกแอ่นในยุคนั้นผลิตรังนกแอ่นได้เท่าที่มีพื้นที่ของไม้ระแนง ไม้โครงพื้น โครงเพดานให้เกาะทำรัง รวมทั้งฝาผนังกำแพง เจ้าของบ้านยังไม่เคยคิดจะจัดการหรือทำพื้นที่เกาะทำรังเพิ่ม รู้จักแต่เก็บรังนกแอ่นขายอย่างเดียว
  • บ้านเรือนเก่าบางหลังปล่อยทิ้งร้างจนไม้พุ ไม่ได้ซ่อมแซม จึงได้รังนกแอ่นน้อย
  • เจ้าของบ้านเรือนเก่าเริ่มตระหนัก อยากได้รังนกแอ่นเพิ่มมากขึ้น เริ่มสังเกต การใช้ไม้ชนิดต่างๆแทนไม้ที่พุ ใช้ไม้แผ่นแทนไม้ระแนง ปรากฏว่านกแอ่นทำรังบนไม้ที่ตีให้ใหม่ ไม้สักก็ยังคงใช้อยู่บ้างเพราะทนทานดีไม่พุง่าย แต่ไม้สักมีราคาแพงและหายาก
  • หลังจากให้ความสนใจเรื่องไม้ตีรังจนพบว่า นกแอ่นชอบไม้ที่มีใย ไม่มีกลิ่น ไม่สกปรก ไม่ขึ้นรา กบบางๆพอขุยไม้ออกไม่ต้องให้เรียบจนลื่นมือ ไม่จำเป็นต้องเป็นไม้สักอีกต่อไป ไม้อื่นๆก็ได้ ให้เป็นไม้ที่แข็งกลาง ไม่มีกลิ่น มีใยบ้างยิ่งดี
  • โดยการทดสอบเพื่อเพิ่มผลผลิตรังนกแอ่นและคุณภาพของรังนกแอ่น พบว่านกแอ่นชอบไม้ชนิดใหม่ ไม้ชนิดนี้สามารถดึงดูดให้นกแอ่นทำรังภายใน 4-5 สัปดาห์ และรังนกแอ่นสามารถเก็บเกี่ยวได้ง่าย ไม้ชนิดนี้คือ SWO-2 หรือไม้ "สยาหิน" นั่นเอง ไม้ชนิดนี้ไม่มีกลิ่น เบา และแข็งกลาง มีการเซาะร่องหลายๆร่องบนแผ่นไม้ เพื่อให้นกแอ่นเกาะและตั้งคิ้วทำรังได้ง่ายขึ้น
  • ไม้ SWO-2 หรือ ไม้สยาหิน หลายๆขนาด ทั้งความกว้าง ความหนา ได้ถูกทดลองใช้เพื่อให้สามารถผลิตรังนกแอ่นเพิ่มขึ้น ไม้หนา 1 นิ้ว สามารถตีตะปูได้ง่าย ยึดกับเพดานได้มั่นคง นกแอ่นรู้สึกปลอดภัยหน้าไม้กว้าง 15, 20, 30 เซนติเมตร สามารถบังแสงและลมได้ดี
จากการประมวลการพัฒนาการของไม้ตีรัง จนถึงการใช้ไม้ SWO-2 หรือไม้สยาหิน ทั้งความหนาและความกว้างของไม้ มีความเกี่ยวพัน 2 หน้าที่คือ
  • ถ้าตีไม้รังขนาด 30 x 100 เซนติเมตร ควรใช้ไม้หน้ากว้าง 15-20 เซนติเมตร
  • ถ้าตีไม้รังขนาดใหญ่กว่า 30 x 100 เซนติเมตร ควรใช้ไม้หน้ากว้าง 20-30 เซนติเมตร
เป็นเรื่องที่สำคัญมากในการเลือกชนิดของไม้ตีรัง จากการทดลองใช้ไม้ชนิดต่างๆทั้งในประเทศเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย และประเทศไทย พบว่านกแอ่นชื่นชอบและพอใจไม้ SWO-2 อินโดนีเซียและมาเลเซียเรียก ว่าไม้ "Meranti Wood" ไทยเรียกว่าไม้ "สยาหิน" เป็นไม้แข็งกลาง ไม่มีกลิ่น มีใย น้ำลายนกแอ่นยึดเกาะได้ดี ค่อนข้างหายากในปัจจุบัน เป็นที่ต้องการของผู้ทำบ้านนกแอ่นทั้งหลาย ส่วนไม้ชนิดอื่นๆถ้าเป็นไม้แข็งกลางและไม่มีกลิ่นก็สามารถใช้ได้

ขนาดของไม้ตีรังควรเป็นไม้หนา 1- 1.5 นิ้ว กว้าง 6 - 8 นิ้ว ขนาดความยาวของไม้ขึ้นอยู่กับขนาดอาคารของบ้านนกแอ่น ว่าจะเลือกไม้ยาว 2 เมตร 4 เมตร หรือ 6 เมตร จะได้ไม้ต้องตัดไม้ให้เหลือเศษมากนัก เซาะร่องขนาด 2 มิลฯ ลึก 2 มิลฯด้านละ 3 - 10 ร่อง ตามใจชอบ


ไม้ตีรังต้องสะอาดและแห้งสนิท ปราศจากเชื้อราและฝุ่น การตีไม้รังอาจตีเป็นแถวยาว แต่ละแถวห่างกัน 35 - 40 เซนติเมตร หรือจะตีเป็นกล่องโดยตีไม้ซอยขวางระหว่างแถวไม้ยาวก็ได้ โดยให้ไม้ซอยที่ตีห่างกัน 100 เซนติเมตร ยึดเกาะกับเพดานอย่างแข็งแรงและมั่งคง ไม่ควรให้มีร่องระหว่างไม้กับเพดาน ถ้ามีร่องเพราะไม้โค้งหรือเพดานไม่เรียบให้อุดหรือยาร่องก็ได้ การตีไม้รังให้ตีขวางกับทางเข้าของแสงหรือทางบินของนก

ทิศทางการตีไม้

บ้านนกแอ่นที่มีการจัดการที่ดี จะมีรูปแบบการตีไม้รังมากกว่า 1 แบบ หรือหลากหลายรูปแบบ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการกำหนดช่องทางเข้า-ออกของบ้านนกแอ่น ช่องทางเข้า-ออกของบ้านนกแอ่นจะมีทั้งแสงสว่างและลมซึ่งสามารถเข้าสู่ภายใน บ้านนกแอ่นได้ ช่องทางเข้า-ออกของบ้านนกแอ่น ก็จะเป็นตัวกำหนดเส้นทางการบินของนกแอ่นเข้าสู่ภายในบ้านนกแอ่น

การตีไม้รังให้ได้ผลหรือมีประสิทธิภาพ จะใช้ไม้แผ่นหนา 1 - 1.5 นิ้ว กว้าง 6 -8 นิ้ว โดยการตีไม้รังจะมี 2 ลักษณะคือ
  • การตีไม้รังขนานไปกับทิศทางของแสงสว่างที่เข้าสู่ภายในบ้านนกแอ่น ขอเรียกว่า "ไม้แนว" หรือไม้รังที่ตีตามแนวบินของนกแอ่น ระยะห่างของ "ไม้แนว" ไม่ควรต่ำกว่า 50 เซนติเมตร และไม่ควรเกิน 100 เซนติเมตร
  • การตีไม้รังขวางทิศทางของแสงสว่างที่เข้าสู่ภายในบ้านนกแอ่น ขอเรียกว่า "ไม้ขวาง" หรือไม้รังที่ตีตามแนวขวาง ขวางแนวบินของนกแอ่น ระยะห่างของ "ไม้ขวาง" ประมาณ 30 - 40 เซนติเมตร
การตีไม้รังที่ถูกต้องจึงออกมาในรูปของกล่องหรือตาราง โดยมีขนาด 30 x 50 เซนติเมตร หรือ ขนาด 30 x 100 เซนติเมตรให้เลือกใช้ ขนาด 30 x 50 เซนติเมตรป้องกันแสงสว่างและลมได้ดีแต่นกแอ่นบินเข้าเกาะยาก ขนาด 30 x 100 เซนติเมตร นกแอ่นบินเข้าเกาะได้ง่าย บ้านนกแอ่นส่วนใหญ่จึงใช้ขนาด 30 x 100 เซนติเมตร การตีไม้รังที่ดีและถูกต้องจึงควรตี "ไม้ขวาง" มากกว่า "ไม้แนว" (ดูตารางการตีไม้รังจากภาพข้างบนประกอบเพื่อความเข้าใจ)



การตีไม้รังจะเป็นเรื่องง่ายสำหรับท่าน หากท่านเข้าใจเรื่องวงบินของนกแอ่น การจะกำหนดให้บริเวณใดควรมี "ไม้แนว" หรือ "ไม้ขวาง" จึงขึ้นอยู่กับความเข้าใจของท่านในเรื่องวงบินของนกแอ่น แต่ท่านไม่ต้องกังวลกับเรื่องนี้จนเกินไป นกแอ่นจะพยายามปรับตัวเข้ากับสภาพภายในบ้านนกแอ่น ขอเพียงให้ท่านเน้นเรื่องการมีพื้นที่เกาะและทำรังอย่างเพียงพอ ควบคุมอุณหภูมิและความชื้นให้เหมาะสม ใช้เสียงเรียกที่ดีที่สุดเท่าที่จะหาได้ เท่านี้ก็น่าจะเพียงพอ

ไม้แนว-ไม้ขวางของไม้ตีรัง

บทความเรื่องไม้ตีรังได้เขียนไว้ในบทความก่อนหน้านี้หลายวันแล้ว แต่ยังเกรงว่าบางท่านอาจจะยังไม่เข้าใจเรื่องไม้แนว-ไม้ขวาง จึงขอนำมาย้ำให้ท่านได้เห็นภาพชัดขึ้น เมื่อนกแอ่นบินเข้าสู่ช่องทางเข้า-ออก เพื่อเข้าสู่ภายในบ้านนกแอ่น ไม้ตีรังที่ตีขวางเส้นทางบินของนกแอ่นคือ"ไม้ขวาง" ส่วนไม้ตีรังที่ตีตามแนวเส้นทางบินของนกแอ่นคือ"ไม้แนว"


เมื่อตีไม้ตีรังแบบไม้แนว-ไม้ขวาง ไม้ตีรังจะเป็นรูปกล่องสี่เหลี่ยมดังภาพร่างข้างบน การตีไม้รังแบบนี้เรียกว่า Matrix System หรือ ระบบตารางแบบกล่อง

ข้อ ดีของ"ระบบตารางแบบกล่อง" คือป้องกันแสงและลมได้ดี มีไม้ตีปิดทั้งสี่ด้าน ให้ผลผลิตรังนกแอ่นได้มากกว่าการตีไม้รังแบบแถว แต่ละกล่องสามารถให้ผลผลิตรังนกแอ่นสูงสุดถึง 35-40 รัง ข้อเสียของ"ระบบตารางแบบกล่อง" คือจะมีรังนกแอ่นรังมุม 4 รัง รังมุมจะขายได้ราคาไม่ดี

การตีไม้แนว-ไม้ขวางยังมีเรื่องที่ต้องให้ทำความเข้าใจอีกข้อหนึ่งคือ หากพื้นที่ภายในบ้านนกแอ่นของท่านมีบริเวณพื้นที่กว้าง พื้นที่ของไม้ตีรังก็ย่อมมีมากตามพื้นที่ ดังนั้นการตีไม้รังก็ต้องมีการปรับเปลี่ยน โดยยึดการศึกษาแนวเส้นทางการบินของนกแอ่นที่ต้องทำวงบินขณะบินอยู่ภายในบ้าน นกแอ่น การตีไม้แนว-ไม้ขวางจึงต้องมีการวางแผนให้ดี เพื่อให้การตีไม้รังได้ผลประโยชน์สูงสุด ไม้ขวางดักแนวเส้นทางวงบินของนกแอ่นได้มากที่สุด ทำให้นกแอ่นเข้าเกาะได้สะดวก ทำให้เกิดการใช้พื้นที่ของไม้ตีรังอย่างทั่วถึง ได้ผลผลิตรังนกแอ่นสูงสุด


[DSC02058.JPG]

การตีไม้รังแบบแถว


ภาพข้างบนคือการตีไม้รังแบบแถว การตีไม้รังแบบแถวนั้นทำได้ง่ายและรวดเร็ว มีมุมน้อย จะมีไม้ซอยบ้างก็เพื่อยึดจับให้ไม้แถวแข็งแรงมั่นคงขึ้น บ้านนกแอ่นใหม่ที่มีเนื้อที่มากหรือหลังใหญ่ๆต้องใช้ไม้จำนวนมากมักจะเลือก ตีไม้รังแบบแถว แต่ละแถวห่างกัน 35-40 เซนติเมตร ถ้านกแอ่นยอมรับและทำรังบนไม้ตีรังแบบแถว จะได้รังนกแอ่นที่มีรูปครึ่งถ้วยสวยงามราคาดี



การตีไม้รังแบบกล่องและตีไม้มุมกล่อง

ภาพข้างบนนี้คือการตีไม้รังแบบกล่องและตีไม้ปิดมุมกล่อง ขนาดของกล่องกว้าง 35-40 เซนติเมตร
ยาว 100 เซนติเมตร ไม้ตีมุม 15 เซนติเมตร การตีไม้รังแบบนี้จะได้พื้นที่เกาะและทำรังมาก การที่ตีไม้ปิดมุมกล่องด้วยจะช่วยให้ได้รังนกแอ่นที่มีรูปทรงสวย ราคาดี ถ้าไม่ตีไม้ปิดมุมกล่อง มุมจะเป็น 90 องศา รังนกแอ่นจะไม่สวยราคาไม่ดี และนกแอ่นจะชอบทำรังที่มุมมาก เพราะทำรังง่าย โปรดจำไว้ว่าการที่เราทำบ้านนกแอ่นใหม่ นกแอ่นที่เราสามารถเรียกให้เข้ามาอยู่ได้จะเป็นลูกนกแอ่นที่เพิ่งโตและเพิ่ง จับคู่เป็นครั้งแรกจะยังไม่เก่งในการทำรัง จะเลือกทำรังที่มุมเป็นส่วนใหญ่ ถึงแม้เราจะตีไม้ปิดมุมกล่องแล้วก็ตาม คู่นกแอ่นก็ยังจะเลือกที่มุมอยู่เหมือนเดิม ข้อเสียของการตีไม้รังแบบกล่องคือใช้ไม้มากเพิ่มงบประมาณ

[corner.JPG]

ประโยชน์การตีไม้ปิดมุม นอกจากประโยชน์ในเรื่องความสวยงามของรัง (ซึ่งความจริงราคาของรังอาจไม่ต่างกับราคารังมุมที่ไม่มีไม้ปิดมุมเท่าไหร่นัก) ให้พิจารณาว่าส่วนใหญ่นกแอ่นคู่ใหม่มักตัดสินใจทำรังที่มุมก่อนเสมอ การที่มุมเพิ่มขึ้นย่อมเหมือนช่วยให้นกแอ่นตัดสินใจเลือกเป็นที่พักถาวรได้มากขึ้นหากองค์ประกอบส่วนอื่นๆของฟาร์มนกแอ่นสมบูรณ์ดีอยู่แล้ว เทคนิคนี้เป็นการช่วยเพิ่มปริมาณประชากรนกแอ่นภายในฟาร์มในช่วงเริ่มต้นได้อย่างแน่นอน เมื่อสามารถเพิ่มปริมาณนกแอ่นได้มากขึ้น ความสำเร็จในการทำฟาร์มย่อมมีความเป็นไปได้สูงมากขึ้นตามมาด้วย



แหล่งซื้อ-ขายไม้ตีรัง

การทำบ้านนกแอ่นในปัจจุบันยังคงใช้ไม้ตีรังที่เป็นไม้ธรรมชาติ ไม้ธรรมชาติชนิดต่างๆเริ่มหายาก เนื่องจากนโยบายปิดป่าเพื่ออนุรักษ์ป่าไม้ ยิ่งไม้สยาหินที่นิยมใช้ทำไม้ตีรังในบ้านนกแอ่นยิ่งหายากที่สุด ปัจจุบันไม้ส่วนใหญ่ที่ใช้ทำไม้ตีรังจะนำเข้าจากประเทศมาเลเซีย และคิดว่าอีกไม่นานยิ่งจะหาซื้อยากกว่านี้ ราคาจะยิ่งแพงกว่านี้อีกมาก แหล่ง ซื้อ-ขายไม้ตีรังเท่าที่ติดตามสอบถามได้ข้อมูลมาส่วนใหญ่จะนำเข้าจากประเทศ มาเลเซีย มีผู้นำเข้ามาจำหน่ายไม่กี่ราย ส่วนใหญ่จะอยู่ทางจังหวัดชายแดนภาคใต้ เช่น ที่ อำเภอสุไหงโกลค จังหวัดนราธิวาส อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา และที่จังหวัดยะลา จะส่งทั่วทุกจังหวัดที่มีการทำบ้านนกแอ่น ร้านค้าไม้เกือบทุกจังหวัดจะติดต่อถึงกัน ท่านสามารถติดต่อสั่งซื้อได้ เขาจะสั่งให้ท่าน ราคาอาจจะแตกต่างกันบ้างขึ้นอยู่กับระยะทางบวกค่าขนส่ง ชนิดของไม้ก็อาจจะคละๆกันไป ราคาไม้ในปัจจุบันจะอยู่ที่ประมาณเมตรละ 60 - 220 บาท ขึ้นอยู่กับชนิดของไม้ โดยเป็นไม้หน้ากว้าง 6 นิ้ว หนา 1 นิ้ว ไม้ยิ่งเนื้อแข็งมากยิ่งแพงมาก ไม้ตีรังใช้ไม้แข็งกลางก็พอ เลือกชนิดที่ไม่มีกลิ่น มีใยบ้างยิ่งดี แต่ไม่ควรใช้ไม้เนื้ออ่อนเพราะจะพุและขึ้นราง่าย หากท่านตัดสินใจจะทำบ้านนกแอ่นแล้วก็ต้องรีบหาไม้ตีรังเตรียมไว้ เพราะ ว่าบางครั้งไม้อาจจะขาดตลาด ท่านอาจต้องรอซื้อไม้นาน ทำให้การทำบ้านนกแอ่นของท่านเสร็จไม่ทันตามที่กำหนด มีผลต่อการคลาดเคลื่อนของฤดูผสมพันธุ์ของนกแอ่น


การเซาะร่องบนไม้ตีรัง

มีผู้สนใจการทำบ้านนกแอ่นหลายๆท่านถามเรื่องการเซาะร่องบนไม้ตีรังว่าเซาะ ร่องอย่างไร? เซาะร่องขนาดไหน? เซาะกี่ร่องถึงจะดี? ร่องห่างเท่าไร? ก็เป็นธรรมดาสำหรับท่านที่ไม่ใช่ช่าง ยิ่งไม่เคยเห็นสภาพภายในบ้านนกแอ่นยิ่งคิดไม่ออก การเซาะร่องบนไม้ตีรังก็เพื่อให้นกแอ่นสามารถใช้อุ้งเล็บเกาะได้ง่ายขึ้น ไม่ต้องใช้กำลังมากเหมือนการใช้ปลายเล็บแหลมกดเกาะลงบนแผ่นไม้ตีรังเรียบๆ ทำให้นกแอ่นตั้งคิ้วทำรังได้สะดวกและเร็วขึ้น

การเซาะร่องที่ง่ายและ เร็วคือการใช้เลื่อยตัดไม้ไฟฟ้าที่ใช้ใบตัดแบบแผ่นกลม ใช้แผ่นเลื่อยหนา 2 มิล ฯก็พอ ร่องจะได้ไม่ใหญ่มาก ตั้งความลึกของร่อง 2 มิล ฯ จะเซาะกี่ร่องก็ได้ตามใจชอบ 3 ร่อง 5 ร่อง 7 ร่อง หรือ 10 ร่อง ความห่างของร่อง 1 นิ้ว หรือครึ่งนิ้วก็ขึ้นอยู่กับจำนวนร่องที่ท่านจะเซาะ และความกว้างของไม้ตีรังที่ท่านเลือกใช้ (ภาพข้างบนคือตัวอย่างของการเซาะร่องบนไม้ตีรังหน้ากว้าง 6 นิ้ว เซาะเพียง 3 ร่อง ห่างกันร่องละ 1 นิ้ว เซาะทั้ง 2 ด้าน)

ยังไม่มีการยืนยันจากผู้มีประสบการณ์ในการทำบ้านนกแอ่นว่า การเซาะร่องบนไม้ตีรังนั้นเซาะกี่ร่องถึงจะดีที่สุด ในหนังสือหลายๆเล่มก็ไม่ให้รายละเอียดเรื่องการเซาะร่องบนไม่ตีรัง มีให้เห็นบ้างจากภาพตามเว็บนกแอ่นต่างๆ แต่ละบ้านก็เซาะร่องไม่เหมือนกัน ถ้ายึดตามหนังสือ "Make Millions From Swiftlet Farming" ของ Dr. Christopher Lim เซาะร่องหลายๆร่องไว้ก่อนดีกว่า บ้านนกแอ่นของท่านใช้ไม้หน้ากว้าง 8 นิ้ว เซาะร่อง 15 ร่อง (ภาพบนที่มีนกแอ่น) การเซาะร่องบนไม้ตีรังก็ขอให้ท่านที่กำลังจะ ทำบ้านนกแอ่นคิดเอาเองว่าจะเซาะกี่ร่อง ถ้าคิดไม่ออกก็เลือกเลขที่ท่านชอบ เลขที่ท่านคิดว่าสวยก็ได้



ไม้ตีรังพีวีซีสำเร็จรูปแทนงานไม้

พีวีซีสำเร็จรูปใช้งานแทนไม้ธรรมชาติขนาดกว้าง 6 นิ้ว หนา 1 นิ้วเต็ม พร้อมร่องในตัว น้ำหนักเบาติดตั้งได้ง่ายด้วยอุปกรณ์เพียงเล็กน้อย ออกแบบมาช่วยให้เจ้าของบ้านนกที่มีนกอยู่แล้วจำนวนหนึ่ง แต่ต้อง การเพิ่มพื้นที่การทำรังอีกโดยไม่จำเป็นต้องใช้ช่างไม้มาช่วยติดตั้ง ประหยัดเวลาลงไปได้มาก เนื่องจากเป็นวัสดุ พีวีซี ชนิดไม่มีกลิ่น ทำให้งานเก็บรังนกแอ่นออกมาสวย ลดการแตกหักได้ดีทีเดียวขณะเก็บรัง เก็บรังง่ายกว่าไม้มาก ไม่ขึ้นรา ไม่ผุ ปลวกไม่ขึ้น ไม่เป็นที่อยู่อาศัยของไร


ภาพไม้ตีรังในแบบต่างๆ



2 ความคิดเห็น:

  1. ขอบคุณเจ้าของ blog นี้มากครับสำหรับข้อมูลดีๆ ที่เป็นประโยชน์ สำหรับผู้ที่กำลังสนใจทำธุรกิจรังนก

    ตอบลบ
  2. ขอบคุณข้อมูลดีดี เพื่อศึกษาการสร้างบ้านให้นกเข้าอยู่ มีประโยชน์มากครับ

    ตอบลบ