หน้า 16
เมื่อเราสร้างหรือดัดแปลงอาคารได้ครบองค์ประกอบตามขั้นตอนที่ 1 และ 2 แล้ว ทีนี้เรามาดูขั้นตอนต่อไป ขั้นตอนที่จะกล่าวถึงในบทความนี้ก็คือการกำหนดองค์ประกอบภายในฟาร์มตามแบบ ที่อยู่อาศัยดั้งเดิมที่นกแอ่นคุ้นเคยหรือนกแอ่นชื่นชอบ
องค์ประกอบสำคัญภายในฟาร์มนกแอ่นมีดังต่อไปนี้
- ความชื้นและอุณหภูมิ ภายในฟาร์มนกแอ่น
- ระบบถ่ายเทอากาศ ภายในฟาร์มนกแอ่น
- ความมืด ภายในฟาร์มนกแอ่น
- กลิ่น ภายในฟาร์มนกแอ่น
______________________________________________________________
มาทำความเข้าใจเรื่องความชื้นกันซักหน่อย
ความชื้น (Humidity) หมายถึง จำนวนไอน้ำที่มีอยู่ในอากาศ ความชื้นของอากาศมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับความดันและอุณหภูมิ
ความชื้นสัมพัทธ์ (Relativety humidity) หมายถึง “อัตราส่วนของปริมาณไอน้ำที่มีอยู่จริงในอากาศ ต่อ ปริมาณไอน้ำที่จะทำให้อากาศอิ่มตัว ณ อุณหภูมิเดียวกัน” หรือ “อัตราส่วนของความดันไอน้ำที่มีอยู่จริง ต่อ ความดันไอน้ำอิ่มตัว” ค่าความชื้นสัมพัทธ์แสดงในรูปของร้อยละ (%)
อธิบายคร่าวๆ คือ ปริมาณของไอน้ำในอากาศขึ้นอยู่กับอุณหภูมิของอากาศ อากาศร้อนสามารถเก็บไอน้ำได้มากกว่าอากาศเย็น ดังนั้นหากเราลดอุณหภูมิของอากาศจนถึงจุดๆ หนึ่งจะเกิด “อากาศอิ่มตัว” (Saturated air) อากาศไม่สามารถเก็บกักไอน้ำไว้ได้มากกว่านี้ หรือกล่าวได้ว่า อากาศมีความชื้นสัมพัทธ์ 100% ดังนั้นหากอุณหภูมิยังคงลดต่ำลงอีก ไอน้ำจะเปลี่ยนสถานะเป็นของเหลว อุณหภูมิที่ทำให้เกิดการควบแน่นนี้เรียกว่า “จุดน้ำค้าง” (Dew point) เป็นสาเหตุให้เกิดการเกาะตัวของหยดน้ำที่ไม้ตีรังทำให้ไม้เกิดเชื้อรา
ดังนั้นเมื่อเราพอจะเข้าใจเรื่องความชื้นแล้วคงจะพอมองภาพรวมได้ว่า ภายในฟาร์มนกแอ่นของเราควรปรับปรุงและแก้ไขเรื่องความชื้นและอุณหภูมิอย่างไรให้ได้มาตรฐานที่นกแอ่นชื่นชอบ
______________________________________________________________
ความชื้นและอุณหภูมิ ภายในฟาร์มนกแอ่น
หลังจากสร้างบ้านนกแอ่นเสร็จ สิ่งแรกที่ต้องทดสอบคือการวัดอุณหภูมิและความชื้นภายในบ้านนกแอ่น เมื่อทราบค่าอุณหภูมิและความชื้นแล้วก็หาวิธีแก้ไข ถ้าความชื้นไม่ได้ตามกำหนดก็เพิ่มเครื่องทำความชื้น ถ้าอุณหภูมิไม่ได้ตามกำหนด ให้ตรวจสอบดูว่าเกิดจากส่วนไหน เช่น ผนังด้านใดที่ยังร้อนอยู่ หรือเพราะช่องระบายอากาศน้อยเกินไป การจะคำนวณครั้งเดียวให้ลงตัวทุกอย่างเป็นเรื่องที่ยากมาก ช่องระบายอากาศถ้าทำเผื่อไว้ตั้งแต่แรกจะดีที่สุด ถ้าตอนหลังเราพบว่ามากเกินไปก็สามารถปิดได้ ซึ่งทำได้ง่ายกว่าเจาะเพิ่ม ดังนั้นก่อนจะเปิดบ้านนกแอ่นเพื่อเรียกนกแอ่นเข้าอยู่อาศัยจึงต้องมั่นใจว่า อุณหภูมิและความชื้นได้ระดับตามที่เรากำหนดไว้
จากการสำรวจสภาพภายในถ้ำธรรมชาติที่นกแอ่นอาศัยโดยใช้เครื่องมือวัดอุณหภูมิ และความชื้น พบว่าอุณหภูมิภายในถ้ำจะอยู่ที่ประมาณ 25 - 30 อาศาเซนเซียส ความชื้นประมาณ 80 -85 % ดังนั้นจึงได้ข้อสรุปว่านกแอ่นน่าจะชอบอุณหภูมิและความชื้นดังที่ได้กล่าว ถึง การทำบ้านนกแอ่นจึงพยายามที่จะทำอุณหภูมิให้ได้ 28 องศาเซนเซียส และ ความชื้นให้ได้ 85 %
การควบคุมอุณหภูมิและความชื้นมักมีความสัมพันธ์กัน การเพิ่มความชื้นจะทำให้อุณหภูมิลดลง และถ้าเพิ่มความชื้นให้ได้ 85 % แต่อุณหภูมิลดลงต่ำกว่า 25 องศาเซนเซียส ก็ควรระวัง เพราะอุณหภูมิจะไปทางด้านเย็น ซึ่งเย็นไปนกแอ่นก็ไม่ชอบ
การควบคุมอุณหภูมิและความชื้นในบ้านนกแอ่นมีหลายแบบ บางแห่งใช้การทำรางน้ำรอบๆกำแพงพนังด้านในบ้าน บางแห่งทำสระน้ำขนาดเล็กกลางห้อง บางแห่งใช้อ่างน้ำขนาดใหญ่มีฉีดละอองน้ำหรือทำน้ำพุ ฯลฯ ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับแต่ละผู้เชี่ยวชาญ
อุณหภูมิและความชื้นเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง เมื่อนกแอ่นเข้าสำรวจจะรู้สึกสบายช่วยให้ตัดสินใจเข้าอยู่อาศัยได้เร็วขึ้น อุณหภูมิและความชื้นที่เหมาะสมช่วยให้นกแอ่นขยายพันธุ์ได้เร็วขึ้น ได้จำนวนรังนกแอ่นมากขึ้น เพราะความชื้นมีผลต่อการขยายพันธุ์เพื่อเพิ่มปริมาณนกแอ่น มีผลต่อคุณภาพของรังนกแอ่น รังนกแอ่นจะสะอาดมีขนน้อยไม่กรอบ ได้น้ำหนัก ราคาดี นี่คือเหตุผลว่าทำไมความชื้นจึงมีความสำคัญในการทำบ้านนกแอ่น และบ้านนกแอ่นที่สำเร็จสูงสุดคือบ้านนกแอ่นที่สามารถควบคุมความชื้นได้ดีที่ สุดนั่นเอง
การเลือกใช้วัสดุ ขนาดของบ้านนกแอ่น และพื้นที่ที่ทำบ้านนกแอ่นล้วนเป็นองค์ประกอบที่สำคัญในการทำบ้านนกแอ่น แต่ละพื้นที่จะมีอุณหภูมิและความชื้นแตกต่างกัน การเลือกใช้อุปกรณ์ต่างๆเพื่อช่วยให้บ้านนกแอ่นมีสภาพใกล้เคียงถ้ำธรรมชาติ ที่นกแอ่นอาศัยจึงมีความจำเป็น การทำช่องระบายอากาศเพื่อให้เกิดการหมุนเวียนเคลื่อนไหวของอากาศ การทำรางน้ำ อ่างน้ำเพื่อเพิ่มความเย็นความชื้นภายในบ้านนกแอ่น จึงกล่าวได้ว่าอุณหภูมิและความชื้นมีผลต่อการเข้าอยู่อาศัยของนกแอ่นและขนาดของรัง
เทคนิคการเพิ่มความชื้นในแบบต่างๆ
ทำรางน้ำรอบอาคาร
สามารถช่วยเพิ่มความชื้นได้ประมาณ 5% ลดอุณหภูมิจากการสะสมความร้อนในเหล็กของโครงสร้างคานบางแห่งใช้อิฐ มอก. ก่อด้านในอีกชั้นไม่ต้องฉาบปูนเพื่อ ให้น้ำซึมผ่านขึ้นมาเพราะอิฐดูดซับความ ชื้นได้ดี ถ้ามีระบบถ่ายเทอากาศที่ดีน้ำที่ซึมอยู่จะระเหยสร้างความชื้นและลดอุณหภูมิ ได้ดี ส่วนใหญ่ฝังพัดลมขนาดเล็กในท่อระบายอากาศเป่าลงรางน้ำเพื่อเพิ่มความชื้นอีก ด้วย
ข้อควรระวัง : มักมีปัญหาการรั่วซึมของรางน้ำจากรอยแตกร้าวที่เกิดจากการทรุดตัวของอาคาร
ติดตั้งเครื่องเพิ่มความชื้น
เครื่องทำความชื้น Ultrasonic Humidifier เป็นเครื่องทำความชื้นแบบละอองเย็น สามารถ ทำความชื้นได้มากกว่า99%RH สร้างหมอกจาก Transducer เป็นตัวทำปฏิกิริยากับน้ำด้วยความถี่สูง ทำให้น้ำกลายเป็นละออง เล็กมากเฉลี่ยประมาณ 1 ไมคร่อน ล่องลอยไปในอากาศ ละอองขนาดที่เล็กมากจะผสมกับอากาศได้ดี ซึ่งถ้านำไปใช้ปรับความชื้นในฟาร์มนกแอ่นก็จะสามารถซอกซอนไปได้ทั่ว ไม่ตกลงพื้นเร็วเหมือนระบบอื่นที่มีขนาดละอองใหญ่กว่ามาก
เป็นเครื่องทำความชื้นระบบ Ultrasonic เหมือนกันแต่มีขนาดเล็ก มีหัว Transducer ประมาณ 3 หัว ราคาถูกกว่ามากแต่ต้องใช้จำนวนหลายตัวต่อชั้น โดยคำนวณจากปริมาตรของแต่ละชั้น ตอนนี้กำลังเป็นที่นิยมมากในการนำมาเพิ่มความชื้นและลดอุณหภูมิในฟาร์มนก แอ่นในต่างประเทศ
เครื่องทำความชื้นของ Faran จากประเทศเกาหลีเป็นเครื่องที่มีระบบการทำงานที่ไม่ซับซ้อน ให้ละอองความชื้นที่ละเอียดไม่มีหยดน้ำ ติดตั้งได้ง่าย กินไฟน้อย ทนทาน ดูแลรักษาง่าย สั่งนำเข้าโดย Swiftlet Lover Blog สั่งตรงจากเกาหลี เบอร์ติดต่อ 081-9591234 หรือ 081-8965555
เครื่องทำความชื้นที่นิยมใช้กันมาก ราคาค่อนข้างจะถูกกว่ายี่ห้ออื่นๆ เป็นของบริษัท Tay-Ring จากใต้หวันเครื่อง รุ่นนี้ติดตั้งง่าย มี 2 แบบ ชนิดถาดสเตนเลสและถาดพลาสติก การติดตั้งใช้สายท่อยางแบบอ่อนขนาด 6 mm. ต่อจากวาล์วหรือก๊อกน้ำ เปิดน้ำเข้าเพียงเล็กน้อยไม่ต้องแรงมาก ตัวเครื่องมีตัวตัดน้ำเมื่อน้ำเต็มถาด เสียบปลั๊กไฟเครื่องก็จะทำงานทันที ไม่มีตัววัดความชื้น
เครื่องทำความชื้นแบบฉีดละอองน้ำ การทำความชื้นระบบนี้ต้องมีการเตรียมพื้นที่อย่างดี ต้องพร้อมที่จะยอมรับความเปียกแฉะของพื้น ได้ความชื้นในระดับที่ต้องการอย่างรวดเร็ว การติดตั้งต้องเดินท่อน้ำ และหัวฉีดกระจายไปสู่จุดต่างๆทั่วบริเวณ หัวฉีดจะมีขนาดเล็กมากเพื่อให้พ่นละอองน้ำออกมามีความละเอียด เมื่อละอองน้ำพ่นออกไปจะไล่อากาศที่ร้อน ลดอุณหภูมิ เพิ่มความชื้น เนื่องจากหัวพ่นละอองน้ำมีขนาดเล็กมาก แรงดันน้ำปกติไม่สามารถดันน้ำได้ จึงจำเป็นต้องใช้มอเตอร์ปั๊มน้ำ จำเป็นต้องมีตัวกรองน้ำเข้าเพื่อกรองตะกอน
ภาพข้างบนเป็นการนำสระน้ำพลาสติกที่ลูกๆเลิกใช้แล้วมาดัดแปลง เพื่อใช้ประโยชน์ในการเพิ่มความชื้นในบ้านกแอ่น นำเก้าอี้พลาสติกเจาะช่องบนส่วนที่นั่งเพื่อวางพัดลมเป่าลงน้ำ พัดลมเป่าลงน้ำทำให้เกิดความชื้น หรือใครไอเดียบรรเจิดก็ดัดแปลงเครื่องเพิ่มความชื้นแบบรูปล่างที่นำถังมาใส่ น้ำแล้วใช้แผ่นใยแก้วดูดซับน้ำ ใช้พัดลมดูดอากาศเอาความชื้นออกมาอีกที
ความชื้นที่สูงเกินไป
ช่วงฤดูฝนที่อากาศมีความชื้นสูง บ้านนกแอ่นหลายๆแห่งที่ลืมปรับเครื่องตั้งเวลาเครื่องทำความชื้น คือลดระยะเวลาการทำงานของเครื่องทำความชื้นให้สั้นลง หรือปิดเครื่องทำความชื้นไปเลย การทำบ้านนกแอ่นคือการใส่ใจในเรื่องรายละเอียด การสนใจในเรื่องอุณหภูมิและความชื้นทั้งภายในและภายนอก เมื่อเกิดการละเลยจึงทำให้บ้านนกแอ่นหลายๆแห่งไม้ตีรังเกิดเชื้อราขึ้น
การที่ไม้เกิดเชื้อรา เนื่องมาจากความชื้นที่มากเกินไป ความชื้นที่เหมาะสมสำหรับบ้านนกแอ่นอยู่ที่ประมาณ 80 - 95 % ส่วนใหญ่บ้านนกแอ่นที่เราทำกันมักจะไม่สมบูรณ์ครบถ้วน ที่ไม่สมบูรณ์ครบถ้วนเพราะขาดอุปกรณ์บางตัวที่เราละเลย เช่น เครื่องควบคุมอุณหภูมิและความชื้น ถ้าเราติดตั้งเครื่องควบคุมอุณหภูมิและความชื้น ความเสี่ยงเรื่องเชื้อราก็จะหมดไป เพราะเครื่องควบคุมจะปิด-เปิดการทำงานของเครื่องทำความชื้นเมื่อความชื้นไม่ อยู่ในระดับที่เราตั้งไว้
เชื้อราบนไม้ตีรังมีผลกระทบต่อการทำรังของนกแอ่น คือ ทำให้น้ำลายของนกแอ่นไม่สามารถซึมลงเกาะบนเนื้อไม้ได้ ทำให้การทำรังของนกแอ่นเป็นไปด้วยความยากลำบาก นกแอ่นจะไม่ทำรังตรงจุดที่ไม้ตีรังขึ้นเชื้อรา ถ้าหากเชื้อราเกิดขึ้นภายหลังจากนกแอ่นทำรังแล้วคือตรงจุดที่นกแอ่นทำรัง นกแอ่นก็จะย้ายที่ไปทำรังตรงจุดอื่น หรือไม่ก็ย้ายไปอยู่บ้านอื่นแทน ผิวของลูกนกแอ่นที่เกิดใหม่บอบบาง แม่นกแอ่นจึงต้องเลือกที่ทำรังที่สะอาดให้ลูกนกแอ่น เชื้อราบนไม้ตีรังจึงมีผลกระทบต่อบ้านนกแอ่นเป็นอย่างมาก
การแก้ไขไม้ตีรังที่ขึ้นเชื้อรา การเข้าสำรวจดูแลบ้านนกแอ่นเป็นระยะๆ ก็เพื่อตรวจสอบดูแลความเรียบร้อยของบ้านนกแอ่น การสังเกตุเห็นคราบขาวๆบนไม้ตีรังแต่เนิ่นๆ จะแก้ไขได้ง่าย ถ้าปล่อยให้ความชื้นเกินระดับเป็นเวลานานๆ และเชื้อราเกาะกินลึกถึงเนื้อไม้ การแก้ไขก็ทำได้ยากอาจถึงขั้นต้องเปลี่ยนไม้ตีรังใหม่ การแก้ไขเบื้องต้นถ้าพบว่าไม้ตีรังเริ่มเป็นเชื้อรา ให้หยุดระบบทำความชื้นทั้งหมดเพื่อให้ไม้ตีรังได้แห้ง เมื่อไม้ตีรังแห้งให้ใช้แปรงลวดทองเหลืองขัดถูเอาเชื้อราออก ถูหลายๆครั้งจนมองไม่เห็นเชื้อรา ส่วนไม้ตีรังแผ่นไหนที่ไม่สามารถขัดถูเชื้อราออกได้จนหมด หากไม่เปลี่ยนออกนกแอ่นก็จะไม่ยอมทำรังตรงจุดนั้น จึงควรเปลี่ยนไม้ตีรังใหม่ เพื่อให้ได้พื้นที่ทำรังของนกแอ่นเพิ่มขึ้น การควบคุมความชื้นจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ไม้ตีรังไม่เกิดเชื้อรา
อุณหภูมิมีผลต่อรังนกแอ่นอย่างไร
อุณหภูมิมากกว่า 30 C ํ
- รังนกแอ่นจะหล่นง่าย ไม่เกาะไม้ตีรัง น้ำลายนกแห้งเร็วเกินไป
- รังนกแอ่นจะมีช่องห่างไม่แน่น กรอบและเปราะ
- รังนกแอ่นมีขนมากและสกปรก
- รังนกแอ่นมีน้ำหนักเบา 4-5 กรัม/รัง รังเล็กไม่ได้ราคา
- รังนกแอ่นจะแข็ง แน่น แตกหักยาก
- รังนกแอ่นจะไม่หล่น
- รังนกแอ่นจะสะอาด ขนน้อย
- รังนกแอ่นจะได้น้ำหนักประมาณ 8-13 กรัม/รัง รังใหญ่ได้ราคา
- รังนกแอ่นหล่นยากใช้เวลาในการทำรังนาน
- รังนกแอ่นได้น้ำหนักประมาณ 14 กรัม/รัง
- ได้รังนกแอ่นน้อย
____________________________________________________________
ระบบถ่ายเทอากาศ ภายในฟาร์มนกแอ่น
(Ventilation System)
(Ventilation System)
การทำบ้านนกแอ่นเพื่อให้นกแอ่นเข้าอยู่อาศัย ต้องคำนึงถึงระบบระบายอากาศเป็นอย่างยิ่ง การปิดช่องทุกช่องที่แสงสว่างสามารถเข้าได้ เพื่อให้บ้านนกแอ่นมีความมืดเสมือนในถ้ำ ทำให้อากาศไม่สามารถเข้าสู่ภายในบ้านนกแอ่นได้มากนัก ทำให้รู้สึกอึดอัด การทำระบบระบายอากาศจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องดำเนินการตั้งแต่เริ่มต้นทำบ้าน นกแอ่น
การทำระบบระบายอากาศในบ้านนกแอ่นส่วนใหญ่จะใช้ท่อ PVC ขนาด 4 นิ้ว และใช้ข้องอ 4 นิ้ว ประกอบเป็นรูปตัว L ดังภาพข้างบน ผังในกำแพงรอบๆบ้านนกแอ่น มากหรือน้อยขึ้นอยู่กับกระแสลมธรรมชาติรอบๆบ้านนกแอ่นที่ตั้งอยู่ จะทำแบบ 1 แถว หรือ 2 แถว ก็ให้พิจารณาดู ถ้าทำช่องระบายน้อยเกินไปจะเพิ่มทีหลังย่อมยุ่งยาก แต่ถ้าช่องมากเกินไปทำให้ความชื้นในบ้านนกแอ่นลดลง เราสามารถใช้กระดาษอุดในท่อหรือใช้ฝาปิดท่อได้ ด้านนอกของท่อระบายอากาศที่อยู่นอกบ้านนกแอ่น ให้ติดตาข่ายกันแมลงสาป ตุ๊กแก และสัตว์รบกวนอื่นๆ ระบบระบายอากาศแบบนี้เป็นเพียงตัวอย่าง ให้ท่านได้เห็นภาพภายในบ้านนกแอ่น ไม่ใช่สูตรสำเร็จ ท่านสามารถใช้วิธีอื่นใดก็ได้ที่ทำให้อากาศระบายได้และประหยัดงบประมาณของ ท่าน
การติดตาข่ายและพัดลมในท่อระบายอากาศ
ช่องระบายอากาศควรมีกี่ช่อง
เวลาที่ท่านเห็นบ้านนกแอ่น ท่านจะเห็นบางบ้านมีช่องระบายอากาศมาก บางบ้านมีช่องระบายอากาศน้อย หรือบางบ้านไม่มีช่องระบายอากาศเลย อะไรคือจุดประสงค์ของการมีช่องระบายอากาศ ในทางปฏิบัติเพื่อให้เกิดการเคลื่อนไหวการไหลเวียนของอากาศภายในบ้านนกแอ่น อย่างที่เราทราบกันดีอยู่แล้วว่า อุณหภูมิและความชื้นเป็นองค์ประกอบที่สำคัญในการทำบ้านนกแอ่น
ปกติช่องระบายอากาศในบ้านนกแอ่นมักจะใช้ท่อ PVC ขนาด 4 นิ้ว สวมข้องอ 90 องศา หันหัวข้องอลงกับพื้นเพื่อป้องกันแสงสว่าง จำนวนของช่องระบายอากาศมีความสำคัญมาก หากมีช่องระบายน้อยเกินไป อุณหภูมิภายในบ้านนกแอ่นจะเพิ่มขึ้น ในทางตรงกันข้าม หากมีช่องระบายอากาศมากเกินไป ความชื้นก็จะลดลง ลักษณะแบบนี้จึงเหมือนการเล่นกระดานหก จำนวนช่องระบายอากาศที่เหมาะสมควรจะมีจำนวนเท่าไหร่ และควรติดตั้งตรงจุดไหนบ้าง หากท่านสามารถติดตั้งช่องระบายอากาศได้สมบูรณ์ มีการเคลื่อนไหวการไหลเวียนของอากาศที่ดี จะทำให้ท่านไม่จำเป็นต้องติดตั้งระบบอื่นๆมากมายนัก เช่น สปริงเกอร์น้ำ พัดลมดูดอากาศ ปั๊มน้ำไหลเวียน ฯลฯ ท่านคงเคยได้ยินการกล่าวถึงบ้านนกแอ่นที่ประสบความสำเร็จสูงสุด ได้ผลผลิตรังนกแอ่นมากมายโดยไม่มีเครื่องช่วยใดๆ นอกจากมีสระน้ำ รางน้ำเพียงอย่างเดียว
หากการออกแบบหรือดัดแปลงบ้านนกแอ่นโดยคำนึง ถึงจำนวนช่องระบายและจุดที่ติดตั้งช่องระบายอากาศเป็นไปอย่างดีเยี่ยม จะช่วยลดความกังวลความปวดหัวของท่าน ลดขั้นตอนที่จุกจิกของระบบระบายความร้อนระบบความชื้นภายในบ้านนกแอ่น การเคลื่อนไหวการไหลเวียนของอากาศเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อความสำเร็จและ ความล้มเหลวของบ้านนกแอ่น การที่ท่านต้องเพิ่มอุปกรณ์ต่างๆเพื่อช่วย ให้อุณหภูมิและความชื้นในบ้านนกแอ่นสมบูรณ์ขึ้น ยิ่งมากชิ้นก็ยิ่งเพิ่มการบำรุงรักษาเพิ่มค่าใช้จ่าย อุปกรณ์ทุกตัวที่ใช้ย่อมมีการสึกหรอตามการเวลา ท่านลดอุปกรณ์ได้มากเท่าไหร่ท่านก็ประหยัดได้มากขึ้น
ช่องระบายอากาศ ช่วยดึงอากาศที่สดชื่นจากภายนอกเข้าสู่ภายในบ้านนกแอ่น ขณะเดียวกันก็ช่วยระบายกลิ่นเหม็น กลิ่นฉุน กลิ่นอับของขี้นกบางส่วนภายในบ้านนกแอ่นออกไป ถ้าระบบช่องระบายอากาศภายในบ้านนกแอ่นดี อากาศภายนอกสามารถเข้ามาได้ อากาศภายในก็สามารถระบายออกได้ บ้านนกแอ่นที่ดีคือบ้านนกแอ่นที่มีระบบไหลเวียนของอากาศที่ดีนั่นเอง (ให้ศึกษาในบทความ "ทิศทางลมกับบ้านนกแอ่น")
ในทางปฏิบัติช่องระบายอากาศควรติดตั้งระดับไหน ต่ำจากเพดานลงมาเท่าไหร่ ควรมีจำนวนกี่ช่อง ด้านขวาและด้านซ้ายของตัวบ้านควรมีกี่ช่อง กรณีของบ้านนกแอ่นแบบโดดเดี่ยว ด้านหน้าและด้านหลังควรมีกี่ช่อง กรณีของบ้านนกแอ่นแบบตึกแถวดัดแปลงปรับปรุง สำหรับท่านที่มีบ้านนกแอ่นอยู่แล้ว ลองไปสำรวจดูว่าบ้านนกแอ่นของท่านมีช่องระบายอากาศอย่างเพียงพอหรือไม่ ถ้าอุณหภูมิภายในบ้านนกแอ่นของท่านยังสูงอยู่ การเพิ่มช่องระบายอากาศจะช่วยลดอุณหภูมิลงได้อย่างแน่นอน ท่านลองไปทำการบ้านดู ว่าจะเพิ่มช่องระบายอากาศอย่างไรโดยไม่รบกวนนกแอ่นมากนัก หากท่านไม่สามารถแก้ไขได้จริงด้วยการเพิ่มช่องระบายอากาศ ระบบต่อไปที่ท่านต้องพึ่งพาก็คือ พัดลมดูดอากาศ เครื่องทำความชื้น สปริงเกอร์น้ำ ฯลฯ
การติดตั้งช่องระบายอากาศให้ติดตั้งมากเข้าไว้ดี กว่า ถ้าความชื้นภายในบ้านนกแอ่นลดลง เราสามารถที่จะอุดหรือปิดช่องระบายอากาศทีละช่องเพื่อควบคุมความชื้นได้ หากติดตั้งช่องระบายอากาศน้อยเกินไป อุณหภูมิภายในบ้านนกแอ่นเพิ่มขึ้น การจะเพิ่มช่องระบายอีกในตอนหลังจึงยุ่งยากกว่าการทำไว้ตั้งแต่เริ่มต้น ส่วนจำนวนช่องระบายอากาศนั้น ให้คำนวณแบบง่ายๆ 1 เมตร ต่อ 1 ช่องระบายอากาศ แถวบนให้ต่ำลงมาจากเพดานประมาณ 50 เซนติเมตร แถวล่างให้สูงจากพื้นขึ้นมาประมาณ 100 เซนติเมตร
____________________________________________________________
ความมืด ภายในฟาร์มนกแอ่น
การทำบ้านนกแอ่น ความมืดเป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่มีผลต่อความรู้สึกของนกแอ่น นกแอ่นรู้สึกปลอดภัยเมื่ออยู่ในที่มืด เพราะความมืดทำให้ศัตรูมองไม่เห็นรังที่อยู่ของเขา การทำบ้านนกแอ่นคือการเรียนแบบจากสภาพของถ้ำนกแอ่น บ้านนกแอ่นควรมีความมืดใกล้เคียงกับถ้ำนกแอ่น เรามักจะได้ยินการพูดถึงค่าความมืดเป็นหน่วย "ลักซ์" (Lux) ตำราเกี่ยวกับบ้านนกแอ่นหลายเล่มมักกล่าวถึงค่าความมืดที่บ้านนกแอ่นควรจะทำ ให้ได้ คือประมาณ 2 - 3 ลักซ์ ค่าความมืด ประมาณ 2 - 3 ลักซ์ ถ้าท่านไม่มีเครื่องวัดแสงท่านจะประมาณได้อย่างไร? เอาง่ายๆแบบประหยัดแบบไม่จำเป็นต้องซื้อเครื่องวัดแสงมาวัด เพราะซื้อมาแล้วก็เอามาเก็บ ไม่ได้วัดทุกวัน ใช้ไม่คุ้มค่าเกินความจำเป็น ให้ท่านทำดังนี้ ท่านวางกระดาษขาวขนาด A4 ลงบนพื้นห้องของบ้านนกแอ่นที่ท่านจะวัดความมืด หากมองไม่เห็นกระดาษขาวA4 ก็แสดงว่า บ้านนกแอ่นของท่านมืดสนิท หากเห็นเพียงรางๆก็แสดงว่าบ้านนกแอ่นของท่านมีค่าของความมืดประมาณ 2 - 6 ลักซ์ จะมืดหรือสว่างก็อยู่ที่การปิดกั้นแสงของท่านว่าทำได้ดีขนาดไหน
สำหรับท่านที่มีโอกาสได้เข้าเยี่ยมชมบ้านนกแอ่นหลายๆแห่งถือเป็นผู้ที่มีโอกาสดี เยี่ยม การเข้าดูภายในบ้านนกแอ่นหลายๆแห่ง คือการเรียนรู้ที่ดีที่สุด ท่านสามารถเห็นความแตกต่างของบ้านนกแอ่นแต่ละหลัง บางบ้านความมืดไม่มากแต่นกแอ่นอยู่อาศัยและทำรังมากมาย บางบ้านความมืดดีมาก 2 - 3 ลักซ์พอดี แต่มีนกอยู่อาศัยและทำรังน้อย อะไรคือความถูกต้องในเรื่องของแสงสว่างและความมืด การ ทำบ้านนกแอ่นให้ได้ความมืดที่เหมาะสม จึงขึ้นอยู่กับแต่ละพื้นที่ ขึ้นอยู่กับบ้านนกแอ่นหลังแรกๆในพื้นที่นั้นว่ามีสภาพความมืดภายในบ้านเป็น อย่างไร หากเราจะแบ่งลูกนกแอ่นจากเขา เราก็ควรทำบ้านนกแอ่นของเราให้มีความมืดเหมือนเขา ถ้าทำไม่ได้ก็ยากที่จะได้ลูกนกแอ่นจากเขา เราจึงเห็นว่าบางบ้านนกแอ่นสำเร็จในเวลาอันรวดเร็ว บางบ้านนกแอ่นใช้เวลาเป็นปีๆกว่าจะสำเร็จ นี่เพียงแค่ปัญหาเรื่องแสงสว่างและความมืดเท่านั้น หากนำเรื่องอื่นๆ เช่น อุณหภูมิ ความชื้น ช่องทางเข้า-ออก วงบิน เสียงเรียกนก ฯลฯ
มาหาข้อยุติทีละเรื่องก็มีให้คิดอีกมากมาย ผู้ที่ทำบ้านนกแอ่นใหม่ๆยังไม่มีข้อมูลที่เพียงพอย่อมมีโอกาสที่จะล้มเหลว ได้ง่าย การหาข้อมูลอย่างรอบคอบรอบด้านของแต่ละพื้นที่จึงสำคัญยิ่ง เป็นข้อมูลของความสำเร็จของท่านเอง เราจะเห็นว่าผู้ที่เคยทำบ้านนกแอ่นสำเร็จสูงสุดแล้วในพื้นที่หนึ่ง พอไปทำบ้านนกแอ่นในอีกพื้นที่หนึ่ง โดยลอกแบบ 100% จากบ้านนกแอ่นหลังเดิมไปทำ กลับพบกับความล้มเหลว คนหรือนกแอ่นก็เหมือนกัน หากอยู่ในสภาพเดิมที่เคยชินเป็นเวลานาน อยู่ๆให้ท่านต้องมาเปลี่ยนความคุ้นเคยเดิมๆ ท่านก็ไม่ชอบแน่นอน นกแอ่นก็เช่นกัน ชอบความคุ้นเคยแบบเดิมๆ
ดังนั้นการทำบ้านนกแอ่นให้ ประสบความสำเร็จ เรื่องแสงสว่างและความมืดภายในบ้านนกแอ่น จึงควรทำแบบผสมไว้ คือส่วนที่มืดที่สุดก็มี อยู่ลึกเข้าไปในสุดของตัวบ้านหรือบินมุดลงชั้นล่างๆ ส่วนที่สว่างก็มีอยู่ใกล้ๆช่องทางเข้า-ออก ส่วนที่สลัวๆก็มีอยู่กลางๆห้องถัดจากช่องทางเข้า-ออก หากท่านทำได้ดังนี้ท่านจะผิดพลาดน้อย นกแอ่นชอบแบบไหนเขาจะได้เลือกจุดทำรังตามใจเขา
____________________________________________________________
กลิ่น ภายในฟาร์มนกแอ่น
กลิ่นภายในฟาร์มนกแอ่นที่อยากจะกล่าวถึงในบทความนี้ ไม่ใช่กลิ่นหอมเย้ายวนชวนฝัน กลิ่นคาวของฮอร์โมนนกแอ่น หรือกลิ่นขี้นกแอ่นที่โรยในฟาร์ม แต่หมายถึงกลิ่นสารเคมีต่างๆที่ผสมอยู่ในสิ่งปลูกสร้างไม่ว่าจะเป็น กลิ่นสี กลิ่นปูน กลิ่นน้ำยาในลวดเชื่อมเหล็ก กลิ่นสารเคมีที่ผสมอยู่ในฉนวนกันความร้อน แม้แต่กลิ่นคลอรีนที่ผสมอยู่ในน้ำประปาที่ต่อไปยังเครื่องทำความชื้นในบ้าน นกแอ่น ในการที่จะดับกลิ่นเหล่านี้ให้หมดไปได้อย่างรวดเร็วจึงจำเป็นต้องใช้น้ำยา ปรับกลิ่น เป็นสูตรเฉพาะของแต่ละผู้เชี่ยวชาญแต่ละบริษัทที่ผลิตออกมา
มีข้อมูลบางอย่างอยากแนะนำสำหรับผู้ทำฟาร์มนกแอ่นใหม่ มีการทดลองนำกลิ่นต่างๆที่คิดว่านกแอ่นคุ้นเคยมาทาในบ้านนกแอ่นใหม่ เช่น นำไม้ตีรังไปแช่น้ำทะเลเพื่อให้ได้กลิ่นไอทะเล นำน้ำมันปลาผสมไข่เป็ด น้ำผึ้ง ทาที่ไม้ตีรัง (ดังรูปภาพด้านบน) มีการนำขี้นกแอ่นละลายน้ำทาที่ผนังปูน และอีกสารพัดวิธีการ ซึ่งสามารถกลบกลิ่นสารเคมีต่างๆในฟาร์มนกแอ่นใหม่ได้ดี สามารถเชิญชวนและดึงดูดนกแอ่นเข้าสำรวจและทำรังได้เร็วกว่าในระดับหนึ่ง แต่มีข้อเสียคือเป็นที่ดึงดูดสารพัดสัตว์ เป็นแหล่งเพาะ เชื้อโรค เชื้อรา เชื้อแบคทีเรีย รวมไปถึงการดึงดูดศัตรูทั้งหลายของนกแอ่น เช่น มด หนู ตุ๊กแก ที่ร้ายที่สุดคือเจ้าแมลงสาป ที่จะไปกัดกินรัง และทำร้ายลูกนกที่พึงเกิดใหม่ ซึ่งวิธีป้องกันแก้ไขทีหลังค่อนข้างแก้ไขลำบากและยุ่งยากมาก มักจะหลีกเลี่ยงการรบกวนนกแอ่นไม่ได้ ดังนั้นจึงอยากให้ท่านลองพิจารณาดูว่าจะมีวิธีการอย่างไรที่จะเหมาะสมและ คุ้มค่าที่สุด
<< กลับหน้า 15___________อ่านต่อหน้า 17 >>
บล็อกนี้ขอบคุณสำหรับการแบ่งปันข้อมูลบล็อกนี้และคุณสามารถเยี่ยมชมเราได้ที่ และ หากคุณกำลังมองหาที่ดีที่สุด เครื่องวัดความชื้นและอุณหภูมิ แล้วคุณควรจะเห็นเรา.
ตอบลบ