หน้า 3
การทำฟาร์มนกแอ่นกินรังในประเทศอินโดนีเซีย (The Farming of Edible Sweftlets in Indonesia) การทำฟาร์มนกในประเทศนี้หมายถึงการปลูกบ้านทิ้งไว้ให้นกมาทำรังในบ้านแล้วคน ก็เข้าไปเก็บรังมาขาย ในเอกสารนั้นระบุว่าเริ่มมีแนวความคิดที่จะพัฒนาการทำฟาร์มในลักษณะนี้มา ตั้งแต่ ปีค.ศ.1950 แต่มาประสบความสำเร็จจริงจังหลัง ค.ศ.1990 จนมีตัวเลขจำนวนนกที่อยู่ในฟาร์มมากกว่า 40 ล้านตัว จึงไม่น่าแปลกใจว่าจากตัวเลขการนำเข้ารังนกแอ่นของเกาะ ฮ่องกงเพียงเกาะเดียว ประมาณปีละ 160,000 กิโลกรัม เป็นรังนกจากประเทศอินโดนีเซียถึงประมาณ 70,000 กิโลกรัมและจากประเทศไทยเพียง 7,000 กิโลกรัม สำหรับราคาที่ซื้อขายกันที่เกาะฮ่องกงในเมื่อ 5 ปีที่แล้ว พบว่ามีราคาอยู่ระหว่างกิโลกรัมละ 2,620 – 4,060 ดอลล่าร์สหรัฐ หรือประมาณ 100,000–180,000 บาทต่อกิโลกรัม! ถ้าหากให้ลองเดาราคารังนกแอ่นในท้องตลาดของประเทศไทยก็คงจะพอเดาๆได้ว่าราคา ต่ำสุด ก็น่าไม่ควรจะต่ำกว่า 50,000 บาทต่อกิโลกรัม (จริงๆแล้วไม่มีตัวเลขที่แน่นอนเพราะขึ้นอยู่กับคุณภาพของรังด้วย) แล้วอย่างนี้จะไม่ให้เรียกน้ำลายนกว่าทองคำขาวได้อย่างไร ปัจจุบันประเทศอินโดนีเซียได้ขยายการผลิตและตั้งเป็นสมาคมการเพาะเลี้ยงที่ ใหญ่ อีกทั้งยังมีการจัดฝึกอบรมให้แก่ผู้ที่สนใจเป็นประจำทุกปี ซึ่งคงเดาได้ว่าค่าลง ทะเบียนนั้นถูกหรือแพงเพียงไร
จากการรวบรวมเอกสารภาษาไทยที่กล่าวถึงนกแอ่นกินรังในบ้านเราจนถึงปัจจุบันพบว่า มีเพียง 3 เรื่อง ซึ่งจะขอสรุปให้ฟังคร่าวๆ ว่า นกแอ่นกินรังในประเทศไทยส่วนใหญ่ทำรังตามเกาะที่อยู่ในทะเลนับได้ถึง 142 เกาะของในท้องที่จังหวัดตราด ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี พัทลุง กระบี่ พังงา ตรังและสตูล มีการศึกษารายละเอียดของชีววิทยา ของนกแอ่นรังขาวบริเวณอำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราชของ วนิสาใน พ.ศ.2528 พบว่านกชนิดนี้สร้างรังวางไข่ตลอดปี แต่มีการทำรังวางไข่มากที่สุดในระหว่างเดือนมกราคม ถึงเดือนมีนาคม รังมีขนาด 5 X 13 เซนติเมตร รังหนักประมาณ 10 กรัมต่อรัง ใช้เวลาสร้างรังประมาณ 30-35 วัน วางไข่ 2 ฟองต่อรัง ไข่มีสีขาวขนาดประมาณ 12 X 20 มิลลิเมตร ใช้เวลาฟักไข่ประมาณ 22-25 วัน ลูกนกออกจากไข่ไม่มีขนปกคลุมลำตัวและยังไม่ลืมตา พ่อแม่ต้องเลี้ยงดูลูกอยู่ประมาณ 35-40 วันจึงจะบินได้ เมื่อนำรังไปวิเคราะห์หาสารอาหารพบว่ามีโปรตีน 60 % ฟอสฟอรัส 0.03 % แคลเซียม 0.85% และโปรแตสเซียม 0.03% ในอดีตเคยเชื่อว่ายิ่งเก็บรังนกออกมากเท่าไหร่สีของรังจะแดงขึ้นเพราะว่านก ต้องกระอักเลือดมาสร้างรังใหม่ แต่จากการศึกษาก็พบว่าหาได้เป็นเช่นนั้นไม่ เพราะสีของรังนกนั้นขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมของถ้ำที่นกสร้างรัง ถ้ำไหนมีความชื้นสูงหรือมีน้ำซึมจากผนังถ้ำมาที่รังนก รังนกก็จะออกมาเป็นสีแดงไม่ว่าจะเป็นรังที่หนึ่งหรือรังที่สองหรือรังที่สาม ก็ตาม ด้วยความสามารถผลิตรังที่มีราคาแพงมากจน นายแพทย์สุด แสงวิเชียร สนใจศึกษานกแอ่นกินรังเพื่อหาว่าแท้จริงแล้วรังนกนี้สร้างมาจากอวัยวะส่วนใด ของนกกันแน่ จากผลการศึกษาของท่านได้ให้ข้อสังเกตไว้เป็นที่น่าสนใจทีเดียวว่า นกน่าจะผลิตสารเพื่อสร้างรังจากบริเวณกระเพาะพัก (crop) ของนก นับว่าเป็นเรื่องที่จะต้องมีการศึกษาเพื่อพิสูจน์หาข้อเท็จจริงกันต่อไป
เมื่อทราบข้อมูลเชิงชีววิทยาของนกแอ่นกันบ้างแล้ว ต่อไปจะเล่าถึงการเดินทางไปดูแหล่งเพาะเลี้ยงในประเทศไทยที่ประสบความสำเร็จ ในการทำฟาร์มนกแอ่นแบบเดียวกับประเทศอินโดนีเซีย คือที่อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราชที่ตัวอำเภอทั้งช่วงเช้าตรู่และหัวค่ำ ผู้เขียนได้เข้าไปอยู่ท่ามกลางฝูงนกแอ่นนับล้านๆ ตัว บินเต็มท้องฟ้าเพื่อเข้าออกในตัวตึกคล้ายคอนโดมิเนียมที่คนสร้างไว้ให้ และถือว่าเป็นโชคดีที่สุดที่ได้รับความกรุณาจากเจ้าของตึกบางท่านให้เข้าไป ศึกษาภายในตัวตึก พบว่ามีรังนกแอ่นเกาะติดตามเพดาน เหมือนกับภาพการทำฟาร์มในประเทศอินโดนีเซียไม่ผิดเพี้ยน ทำให้เกิดความภาคภูมิใจแทนคนไทยที่มีความสามารถที่ได้สร้างตึก 5-7 ชั้น เพื่อให้นกมาสร้างรังและเก็บมาเป็นสินค้าส่งออกได้ ผู้เขียนได้สอบถามอย่างคร่าวๆ ถึงราคาตึกที่สร้างรวมค่าที่ดินในตอนนี้ตกหลังละไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท มีผลผลิตเฉลี่ยประมาณ 2 กิโลกรัมต่อเดือน อย่างไรก็ตาม เท่าที่สังเกตโดยรอบๆตัวอำเภอปากพนังกำลังมีการก่อสร้างตึกเพื่อดึงดูดให้นก แอ่นอยู่ไม่น้อยกว่า 50 หลัง ที่น่าเป็นห่วงคือไม่รู้ว่าในอนาคตอันใกล้นี้ นกแอ่นหรือตึกจะมีจำนวนมากกว่ากัน
หากมองตัวเลขทางผลผลิตการนำเข้าส่งออกรังนกแอ่นของประเทศไทยล่าสุดในระหว่างปี พ.ศ. 2541-2543 พบว่าตัวเลขปริมาณการนำเข้าและส่งออกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่ที่น่าสนใจคือมูลค่าตัวเงินดูค่อนข้างแตกต่างกันเหลือเกิน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเราส่งออกสินค้าคุณภาพต่ำ แต่นำเข้าสินค้าอย่างเดียวกันแต่คุณภาพ สูง ทำให้สูญเสียเงินตราต่างประเทศเป็นจำนวนมาก ถ้ามองในแง่ร้ายที่สุดคือต่างชาติเข้าไปย้อม (แมว) รังนก ที่จริงก็เป็นของบ้านเราแต่ไปใส่บรรจุหีบห่อแล้วนำกลับมาขายให้คนไทยในราคา ที่แพงกว่าเดิม
หลังจากที่ได้สำรวจข้อมูลของทั้งสองฝ่ายแล้ว เป้าหมายหรือชัยชนะของเราจริงๆ ก็คือ “การทำฟาร์มเลี้ยงนกแอ่นกินรังให้ดีกว่าหรือดีเท่ากับประเทศอินโดนีเซียให้ ได้” โดยเป็นคำกล่าวของ รศ.โอภาส ขอบเขตต์ แห่งภาควิชาชีววิทยาป่าไม้ คณะวนศาสตร์ ท่านเล็งเห็นว่าหากเรายังปล่อยให้มีการเก็บรังนกกันในธรรมชาติมาขายอยู่ จะก่อให้เกิดปัญหาตามมาอีกมากมายในอนาคต ทั้งนี้เพราะภายใต้กฎหมายการเก็บรังนก พ.ศ. 2542 ที่ได้ปรับปรุงจากกฎหมาย พ.ศ. 2482 กำหนดให้แต่ละจังหวัดที่มีรังนกแอ่นเปิดประมูลสัมปทานรังนกในธรรมชาติกันเอง โดยมีระยะเวลาสัมปทานคราวละ 5 ปี โดยยอดเงินที่ใช้การประมูลในแต่ละจังหวัดแตกต่างกันไป เท่าที่ทราบพบว่ามีตั้งแต่ไม่กี่ล้านบาทจนเป็นหลักร้อยล้านบาทขึ้นไป เมื่อเป็นเช่นนี้ใครที่ได้สัมปทานก็ย่อมต้องเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากรังนก ให้ได้มากที่สุดเท่าที่ระยะเวลาจะเอื้ออำนวย ถึงแม้ว่ากฎหมายจะระบุไว้อย่างชัดเจนว่าให้เก็บรังนกได้ปีละสามครั้งเท่า นั้น แต่ความเป็นจริงใครเล่าจะเป็นผู้ตรวจสอบตามหมู่เกาะแก่งต่างๆ กลางทะเลอันไกลโพ้น และการปลูกตึกเพื่อดึงดูดนกให้มาทำรังโดยไม่มีการจัดการดูแลนั้นก็หาได้ใช่ การเพาะเลี้ยงไม่
เรื่องที่สำคัญที่สุดอีกเรื่องในปัจจุบันก็คือ “การกีดกันทางการค้า” เนื่องจากรังนกที่เก็บได้เกือบทั้งหมดของประเทศไทยใช้เป็นสินค้าส่งออก ซึ่งในปัจจุบันมีแนวโน้มสูงกว่าในหลายๆ ประเทศ ทำให้เริ่มมีการผลักดันให้นกแอ่นกินรังถูกขึ้นชื่ออยู่ในบัญชีหมายเลข 2 ตามอนุสัญญาไซเตส (CITES) ซึ่ง หมายความว่าประเทศที่จะส่งรังนกออกได้ต้องเป็นรังนกที่ได้มาโดยไม่ไปรบกวน ประชากรในธรรมชาติหรือต้องได้จากการเพาะเลี้ยงเท่านั้น ห้ามส่งออกและนำเข้ารังนกแอ่นจากธรรมชาติโดยเด็ดขาด ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงมากหากประเทศไทยยังไม่เตรียมตัวรับ สถานการณ์นี้
อย่างไรก็ตามเพื่อพัฒนาแนวทางการเพาะเลี้ยงนกแอ่นกิน รังให้ได้ในประเทศไทย (ซึ่งในปัจจุบันแทบจะเรียกได้ว่าเราไม่มีข้อมูลเพียงพอที่จะดำเนินการเพาะ เลี้ยงจริงๆ ได้เลย) จึงอยากจะขอแบ่งการศึกษาออกเป็นสองส่วนคือ ศึกษาในสภาพธรรมชาติและในสภาพกรงเลี้ยง ดังต่อไปนี้
ในสภาพธรรมชาติ เนื่องจากยังตอบคำถามที่ถกเถียงกันไม่รู้จบสิ้นไม่ได้ว่าในบ้านเราจริงๆ มีนกแอ่นกินรังกี่ชนิดกันแน่และในแต่ละชนิดมีการกระจายอยู่ที่ใดบ้าง ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการศึกษาด้านพันธุกรรม (genetics) ของนกแอ่นกินรังทั้งประเทศ โดยทำการตระเวนเก็บตัวอย่างเลือดนกมาเพื่อตรวจสอบหาความ สัมพันธ์ของความเป็น วงศาคณาญาติของนกแอ่นกินรังที่พบในประเทศไทย จากนั้นมีการศึกษาชีววิทยาของนกแอ่นรังขาวและนกแอ่นรังดำโดยการไปเฝ้าสังเกต ตามธรรมชาติที่นกสร้างรังอยู่ตามเกาะว่ามีสภาพการดำรง ชีวิต สร้างรัง ออกไข่ ฟักไข่ เลี้ยงดูลูกอ่อนรวมทั้งชนิดและปริมาณอาหารที่ใช้ทั้งกินเองและเลี้ยงดูลูก อ่อนเพื่อนำมาประยุกต์ใช้ประกอบในการเพาะเลี้ยง จากนั้นเพื่อต้องการทราบว่านกไปหากินที่ไหน หากินไกลจากรังเท่าใด จึงได้มีการติดวิทยุติดตามตัวนกแล้วปล่อยไป จากนั้นมีการศึกษาเรื่องขบวนการเก็บเกี่ยวรังจากเอกสารและรายงาน โดยพบว่านกสามารถสร้างรังขึ้นมาทดแทน (re-nest)ได้ และมีนกหลายชนิดสามารถออกไข่ขึ้นมาทดแทนไข่ที่หายไป (re-egg)ได้ จึงได้ทดลองเก็บไข่ออกมาเพื่อดูว่านกจะไข่เพิ่มอีกหรือไม่ และได้นำไข่ที่ได้นำมาฟักเอง และทดลองเลี้ยงดูลูกอ่อนอีกต่อไป
ในสภาพกรงเลี้ยง มีการศึกษาโดยมีเงื่อนไขของการเพาะเลี้ยงสัตว์ป่า (Propagation) ซึ่ง หมายถึงการนำสัตว์ป่ามาเลี้ยงแล้วให้ผลิตผลได้ดีกว่าธรรมชาติ แต่หากนำสัตว์ป่ามาเลี้ยงแล้วให้ผลผลิตน้อยกว่าหรือเท่า กับการปล่อยไว้ใน สภาพธรรมชาติ จะไม่ถือว่าเป็นการเพาะเลี้ยงและไม่ควรกระทำอย่างยิ่ง ไข่ของนกแอ่นที่ทดลองเก็บมาจะนำเข้าสู่ขบวนการฟัก เมื่อฟักได้เป็นตัวจะนำเข้าสู่การเลี้ยงดูให้เจริญเติบโตเป็นตัวเต็มวัยต่อ ไป นอกจากนี้ อ.โอภาสยังได้รับความอนุเคราะห์จากผู้เป็นเจ้าของสัมปทานให้นำลูกนกแอ่นกิน รังที่พลัดตกมาจากรังมาพยาบาลและเลี้ยงดูในกรงโดยจะเลี้ยงจนแข็งแรงและนำ กลับไปปล่อยคืนสู่ธรรมชาติต่อไป ปัจจุบันทุกหัวข้อของการศึกษาวิจัยของนกแอ่นกินรังกำลังดำเนินไปได้ด้วยดี โดยกำลังรวบรวมสรุปผลออกมาทั้งในแง่บวกที่มีความเป็นไปได้ในการทำฟาร์ม และในแง่ลบที่เป็นอุปสรรคหรือข้อจำกัดในการทำฟาร์ม
จากภาพรวมผลของ การศึกษาในปัจจุบัน ทำให้พอจะหลับตาจินตนาการวาดภาพฟาร์มเลี้ยงนกแอ่นกินรัง นกแอ่นกินรังบางตัวโผบิน บางตัวบินโฉบอาหารที่ทางฟาร์มพ่นออกมาจากท่อ ในขณะที่นกบางตัวกำลังใช้น้ำลายทำรังที่ฝาผนังห้อง มีพ่อแม่นกบางตัวกำลังเลี้ยงดูลูกอ่อน โดยมีคนถือตะกร้าเดินเก็บรังจากฟาร์ม ซึ่งหากมี "รายการฝันที่เป็นจริง" เกิด ขึ้นในประเทศไทย รังนกจะเป็นสินค้าออกที่ทำเงินตราต่างประเทศได้มาก หรือหากมีเกษตรกรสนใจการเพาะเลี้ยงกันกว้างขวางมากขึ้นก็เท่ากับเพิ่มสาขา อาชีพเกษตรอีกหนึ่งสาขา หรือหากมีผลผลิตมากขึ้นจนรังนกราคาถูกลง คนไทยธรรมดาสามัญที่ไม่จำเป็นต้องเป็นเศรษฐีก็จะมีโอกาสได้ลองลิ้มชิมรสรัง นกได้เช่นกัน
จำนวนบ้านนกแอ่นในพื้นที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (South East Asia)
- ประเทศอินโดนีเซีย ประมาณ 165,000 หลัง
- ประเทศไทย ประมาณ 73,000 หลัง
- ประเทศมาเลเซีย ประมาณ 35,000 หลัง
- ประเทศเวียดนาม ประมาณ 5,000 หลัง
- ประเทศกัมพูชา ประมาณ 1,000 หลัง
ประชากรนกแอ่นเพิ่มขึ้นตลอดตั้งแต่เริ่มมีการทำบ้านนกแอ่น เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังเป็นโอกาสที่ดีของการลงทุนทำบ้านนกแอ่น ประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในภูมิภาคนี้ พื้นที่ภาคใต้ของประเทศไทยเกือบทุกจังหวัดสามารถทำบ้านนกแอ่นได้ แต่ยังไม่ได้มีการสำรวจพื้นที่โดยละเอียด ยังไม่มีการทำโซนนิ่งเหมือนประเทศมาเลเซีย
ตลาดรังนกแอ่นจะยังคงตื่น ตัวตลอดไป เพราะความต้องการบริโภครังนกแอ่นยังมากเกินกว่าความ สามารถในการผลิตรังนก แอ่นเพื่อสนองตอบความต้องการ ปี 2007 ประเทศไทยส่งออกรังนกแอ่น 19% ของความต้องการของตลาดโลก อินโดนีเซีย 62% มาเลเซีย 8% ประเทศจีนและฮ่องกงบริโภครังนกแอ่นมากกว่า 100 ตัน/ปี ไต้หวันและประเทศอื่นๆประมาณ 50 ตัน/ปี
จากบทความที่ประมวลมาจนถึง ตัวเลขที่กล่าวถึง คิดว่าท่านคงเข้าใจถึงสภาพแวดล้อมของการทำบ้านนกแอ่น การทำบ้านนกแอ่นให้ประสบความสำเร็จนั้นยังมีโอกาส เพราะประชากรนกแอ่นเพิ่มขึ้นตลอด และกลุ่มผู้บริโภคก็ยังมีอยู่ตลอด การทำบ้านนกแอ่นที่ถูกหลักวิชาการและวิธีการย่อมประสบความสำเร็จได้แน่นอน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น