หน้า 2 นกแอ่นกินรัง และข้อมูลทางโภชนาการ

หน้า 2

ในประเทศไทยมีนกแอ่น 12 สายพันธุ์ รังนกที่มีมูลค่าคือรังของ นกแอ่นกินรัง (Edible-Nest Swiftlet) ซึ่งในประเทศไทยมีอยู่ด้วยกัน 3 ชนิด คือ
  1. นกแอ่นกินรัง (Collocalia fuciphaga, Gmelin)
  2. นกแอ่นกินรังตะโพกขาว (C. germanni, Oustalet)
  3. นกแอ่นหางสี่เหลี่ยมหรือนกแอ่นรังดำ (C. maxima, Hume)
ลักษณะนกแอ่นกินรังชนิดรังขาว (Edible-nest Swiftlets : Aerodramus fuciphagus) ลักษณะพันธ์ที่มีขนาดปานกลาง (ลำตัวยาวประมาณ 12 เซนติเมตร) ลำตัวสีน้ำตาลเข้มเกือบดำหลังสีน้ำตาลเข้มเกือบดำ สะโพกสีน้ำตาลหรือเทาอ่อน หางแฉกเล็กน้อย ท้องสีน้ำตาล นัยน์ตาสีน้ำตาล จะงอยปากดำ เท้าสีดำ


ลักษณะนกแอ่นรังดำ จะมีขนาดใหญ่กว่าแอ่นรังขาวเล็กน้อย ดังนั้น ขนาดของรังก็จะใหญ่กว่าด้วย ลักษณะการทำรังวัสดุที่ใช้ในการทำรังจะมีขนนกสีดำผสมกับน้ำลาย

มาทำความเข้าใจเรื่องนกแอ่นกับนางแอ่นอีกสักครั้ง เดิมเรียกกันอย่างกว้างขวางว่านกอีแอ่น ซึ่งรวมเอานกสองกลุ่มที่แตกต่างกันอย่างมากเข้าไว้ด้วยกัน ก็คือ swift และ swiftlet กับนกอีแอ่นประเภท swallow และ martin ที่มีรูปลักษณ์ภายนอกและท่าทางในการบินคล้ายกัน ข้อแตกต่างที่สำคัญบางประการ เช่น นกประเภทแรกมีตีนที่กำไม่ได้ จึงไม่อาจเกาะกิ่งไม้หรือสายไฟได้ดังนกประเภทหลัง มันจะใช้ตีนเกี่ยวไว้ได้เท่านั้น และนกประเภทแรกยังมีปีกรูปทรงยาวเรียว ดูคล้ายกับเคียวเกี่ยวข้าว ต่อมาคนไทยในยุคสมัยหนึ่งเกิดความรังเกียจคำว่า "อี" ขึ้นมา โดยหาว่าเป็นคำไม่สุภาพ ทำให้สัตว์นานาชนิดที่คำว่า "อี" นำหน้าต้องถูกถอดออกหรือเปลี่ยนเป็น "นาง" ที่ฟังดูสุภาพกว่า ด้วยเหตุดังกล่าว จึงได้กลายเป็นนกแอ่น (swift และ swiftlet) กับนกนางแอ่น (swallow และ martin) ในปัจจุบัน

นกนางแอ่นกินรังเดิมจัดอยู่ ในสกุล Collocalia และต่อมาเปลี่ยนเป็นสกุล Aerodramus เนื่องจากมีความสามารถในการเปล่งคลื่นเสียงออกมาใช้ในการบินในถ้ำได้ มีอยู่ด้วยกัน 26 ชนิด มีการกระจายตั้งแต่เกาะในด้านทิศตะวันตกของมหาสมุทรอินเดีย ทั่วทั้งบริเวณตอนใต้ของทวีปเอเชียถึงประเทศฟิลิปปินส์ กลุ่มเกาะอินโด-ออสเตรเลีย จนถึงประเทศออสเตรเลียตอนเหนือและหมู่เกาะแปซิฟิกตะวันตกและหมู่เกาะแปซิฟิก ตะวันตกเฉียงใต้ ขนาดลำตัวยาวประมาณ 7.5-13 เซนติเมตร มีปีกยาว 110-118 มิลลิเมตร น้ำหนักตัว 8-9.5 กรัม ขนลำตัวมักมีสีน้ำตาลคล้ำด้านๆ จนถึงสีดำเป็นมัน ปีกยาวปลายแหลม เหมาะแก่การหากินในอากาศ หางสั้นปลายตัดหรือแยกเป็นสองแฉก ออกหากินตามปรกติในเวลากลางวัน มีสายตาที่เฉียบคมแลเห็นได้ดีในช่วงเวลาแสงสลัวๆ

นกนางแอ่นกินรังอินเดียมีรายงานว่าหากินในเวลากลางคืน โดยอาศัยแสงไฟฟ้าตามบ้านเรือนและตามถนน ก่อนรุ่งสางฝูงนกจะเริ่มรวมกลุ่มบินวนเวียนอยู่บริเวณปากถ้ำ ก่อนบินเรียงตามกันเป็นทิวยาวออกหากินตลอดทั้งวัน ทั่วไปเป็นบริเวณกว้างขวาง มักหากินอยู่ตามลำพังตัวเดียว ตอนเช้าจะบินหากินไปเหนือระดับยอดไม้ของป่าดงดิบ ยามเที่ยงถึงบ่ายที่แสงอาทิตย์แรงกล้าขึ้นทุกทีๆ มันจะอาศัยมวลอากาศร้อนที่เกิดขึ้นบินวนสูงหายลับไปจากสายตา พอถึงตอนบ่ายอ่อนๆ นกจะบินกลับลงมาจากอากาศเบื้องบนมุ่งไปยังแหล่งน้ำขนาดใหญ่ อาจจะเป็น แม่น้ำ อ่างเก็บน้ำ หรือแอ่งน้ำขนาดใหญ่ ซึ่งมันจะบินเลียดต่ำลงเฉี่ยวกินน้ำหรืออาบน้ำด้วยท่วงท่าบินร่อนที่สวยงาม ปีกทั้งสองชูขึ้นเหนือแผ่นหลังพร้อมบิดหัวลงต่ำแล้วอ้าปากกว้าง ให้หยดน้ำเข้าสู่ปาก หลัง จากนั้นจะมาบินรวมฝูงกันบริเวณปากถ้ำตอนพลบค่ำ ก่อนที่จะบินกลับเข้าถ้ำด้วยอาหารเต็มกระเพราะ มุ่งผ่านความมืดมิดเข้าสู่บริเวณรังหรือจุดเกาะพักนอนเพื่อพักผ่อนยามราตรี ก่อนจะเริ่มออกหากินอีกครั้งในตอนย่ำรุ่งของวันต่อไป


อาหารหลักของนกแอ่นกินรัง ได้แก่ พวกมดมีปีกและแมลงเม่า คิดเป็น 99% ของปริมาณอาหารทั้งหมด นอกนั้นเป็นพวกแมลงขนาดเล็กๆ เช่น แตนเปียนฝอย แตนไทร เพลี้ย และแมลงวัน มันจะปั้นอาหารในกระเพราะเป็นก้อนกลมๆ แต่ละก้อนมีน้ำหนักโดยเฉลี่ย 0.57 กรัม มีแมลงอยู่โดยเฉลี่ยราว 500 ตัว โดยทั่วไปมีจำนวนแมลงตั้งแต่ 100 ตัว - มากกว่า 1,200 ตัว ได้มีการคาดคะเนไว้ว่านกแอ่นกินรัง จำนวนประมาณ 4,500,000 ตัว ในถ้ำแห่งหนึ่งในเกาะบอร์เนียว กินแมลงได้วันหนึ่งๆ ประมาณ 5,000 กิโลกรัม ประกอบตัวแมลงประมาณ 100,000,000 ตัว ด้วยปริมาณแมลงจำนวนมหาศาลเช่นนี้ทำให้มีผลกระทบต่อระบบนิเวศโดยรอบมากที เดียว

นกแอ่นกินรังทำรังอยู่ร่วมกันในถ้ำเป็นกลุ่มใหญ่ ทั้งในถ้ำริมทะเลและถ้ำตามเทือกเขาหินปูน บางครั้งที่ตั้งของรังอยู่ลึกจากปากถ้ำมากกว่า 400 เมตร นอกจากนี้ ยังทำรังในอาคารบ้านเรือนบางหลัง และในวัดอีกด้วย รังนกจะทำบนผนังถ้ำที่เอนเข้าด้านใน ส่วนใหญ่รังนกติดอยู่กับผนังผิวเรียบที่มีลักษณะเว้าและมีแนวสันเล็กๆ พาดผ่านหลายสัน การทำรังวางไข่ของนกแอ่นกินรัง มีกิจกรรมการวางไข่ สูงสุดเป็นสองระยะ ระยะแรกในเดือนตุลาคม-ธันวาคม ระยะที่สองในเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน แตกต่างกันไปในระหว่างนกแอ่นกินรังในด้านทะเลอันดามัน กับนกแอ่นกินรังในด้านอ่าวไทย ขึ้นอยู่กับการการเริ่มต้นของฤดูมรสุม การสร้างรังใช้เวลานานหนึ่งเดือน เริ่มกกไข่ตั้งแต่วางไข่ฟองแรก วางไข่เพียง 2 ฟอง แต่ละฟองทิ้งระยะเวลาห่างกันประมาณ 3 วัน ระยะฟักไข่นาน 20-26 วัน ระยะเติบโตในรังนาน 37-49 วัน

นกที่ทำรังในถ้ำที่ มืดสนิท เวลาบินมีการส่งเสียงดังคลิ๊กๆ เป็นระยะ เป็นระบบใช้คลื่นเสียงสะท้อนเหมือนกับพวกค้างคาวใช้ในการจับเหยื่อ แต่นกแอ่นกินรังใช้คลื่นเสียงสะท้อนเพื่อหลบหลีกอุปสรรคในถ้ำ โดยเปล่งเสียงออกไปและรับเสียงสะท้อนกลับมาสู่หูเพื่อวิเคราะห์เส้นทางที่จะ บินผ่าน นอกจากนี้ยังทำให้นกบินออก และกลับสู่ถ้ำได้ในเวลาค่ำ จึงมีเวลาบินออกไปหากินไกลจากถ้ำได้มากกว่านกชนิดอื่นที่ต้องกลับที่พักนอน ในช่วงเวลาที่มีแสงสว่างเท่านั้น

คลื่นเสียงนี้แตกต่างจาก คลื่นเสียงของค้างคาวที่มีความถี่สูงเกินที่มนุษย์จะได้ยินได้ คลื่นเสียงของนกแอ่นกินรังช่วงคลื่นที่ได้ยินได้ดังเป็นเสียงคลิ๊กๆ ถี่เป็นชุดๆ มีความถี่ตั้งแต่ 1-2 กิโลเฮิรตซ์ ถึง 7-16 กิโลเฮิรตซ์ เวลาบินในถ้ำนกจะส่งเสียงต่อเนื่องกันไปในอัตรา 3-20 คลิ๊กต่อวินาที อัตราจะถี่สูงขึ้นตอนจะลงเกาะ หรือมีสิ่งกีดขวางอยู่ข้างหน้า เชื่อว่านกทำเสียงโดยใช้ลิ้นเหมือนพวกค้างคาวบัว(Rousettus spp.) หรือทำเสียงดังโดยใช้บางส่วนของหลอดเสียงก็เป็นได้ แต่จะทำได้ในขณะที่นกอ้าปากเท่านั้น

รังนกที่ใช้ปรุงเป็น อาหารหรือยาบำรุงร่างกายทำด้วยน้ำลาย ซึ่งเป็นสารเมือกเหนียวสร้างมาจากต่อมใต้ลิ้นคู่หนึ่ง ไม่ทำหน้าที่ในการย่อยอาหาร ต่อมคู่นี้มีขนาดพองตัวขึ้นอย่างมากในฤดูทำรัง เมื่อแห้งแล้วสารนี้ละลายได้ยากในน้ำหรือแม้แต่ในกรดหรือด่างอ่อนๆ เป็นการปรับตัวให้สามารถในการทำรังเชื่อมติดอยู่กับผนังถ้ำในสภาพชื้นโดย ตลอดของถ้ำได้ดี เป็นสารประเภท mucoprotein มีองค์ประกอบดังนี้ น้ำ 9% โปรตีน 32.3% คาร์โบไฮเดรด 38.7% และพวกเถ้าอนินทรีย์ 20% ในกลุ่มของโปรตีนยังมีกรดอะมิโนจำนวน 17 ชนิด ในปริมาณต่างๆกัน อีกทั้งยังมีแร่ธาตุ เช่น กำมะถัน และฟอสฟอรัส อีกในปริมาณเล็กน้อย
ใน ปัจจุบันรังนกจัดเป็นสินค้าที่มีราคาสูงมากอย่างไม่น่าเชื่อ รังนกชั้นหนึ่งเกรดเอ มีราคากิโลกรัมละหลายหมื่น-แสนบาท

แต่การจัดเก็บรังนกมีการให้สัมปทานแก่เอกชนเป็นรายๆในแต่ละพื้นที่ อันเป็นการที่รัฐอนุญาตให้เอกชนจัดทำผลประโยชน์เกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติ ภายในระยะเวลาและตามเงื่อนไขที่รัฐกำหนด ได้แก่ บริเวณเกาะในเขตจังหวัดตราด ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สตูล ตรัง ภูเก็ต และ พังงา นอกจากนี้ยังมีปลูกอาคารสูงตามชายทะเลเพื่อล่อให้นกแอ่นกินรังเข้ามาทำรัง วางไข่ในหลายบริเวณ โดยเฉพาะในเขต อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช จนเกิดคดีฟ้องร้องกับผู้ที่ได้รับสัมปทานในบริเวณพื้นที่ใกล้เคียงว่าเป็น การละเมิดสัมปทานหลายรายแล้ว เรื่องนี้นับว่ายากต่อการตัดสินเพราะพิสูจน์ความจริงได้ไม่ง่ายเลย


นกนางแอ่นกินรังเป็นนกขนาดเล็กบินเร็ว มีขนาดประมาณ 12 ซ.ม. ชอบอยู่รวมกันเป็นฝูงใหญ่ อาศัยทำรังอยู่ภายในถ้ำบนเกาะเล็กเกาะน้อยชายฝั่งทะเล ใช้น้ำลายทำรังเพื่อวางไข่ มีฤดูกาลสืบพันธุ์ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-เมษายนของทุกปี แต่ห้วงเวลาอาจแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ ปกตินกเพศเมียจะเป็นผู้สร้างรังโดยลำพัง เว้นรังที่สามซึ่งนกเพศผู้และเพศเมียจะช่วยกันสร้าง นกจะสร้างรังในเวลากลางคืนและใช้เวลาประมาณ 1 เดือน รังมีรูปเป็นถ้วยครึ่งซีก เมื่อแห้งและแข็งตัวจะมีลักษณะคล้ายคลึงกับวุ้นเส้นที่อัดตัวกันแน่น โดยตัวรังจะตรึงติดอยู่กับผนังถ้ำหรือภายในผนังอาคารสิ่งก่อสร้างที่นกอาศัยอยู่

นกนางแอ่นสามารถบินได้ 55 ไมล์ หรือ 89 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และเชื่อกันว่านกแอ่นกินรังอายุ 3 ปี จะสร้างรังได้ดีที่สุด จะวางไข่ 2 ฟองต่อรัง โดยจะฟักไข่ในเวลากลางคืน ไข่จะฟักออกเป็นตัวในเวลาประมาณ 3 สัปดาห์ และเมื่อลูกนกอายุประมาณ 6 สัปดาห์ก็จะบินออกจากรังได้

นกนางแอ่นกินรังเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองชนิดเดียวที่มีพฤติกรรมสร้างรังทดแทน กล่าวคือ นกจะสร้างรังใหม่ทดแทนรังที่ถูกเก็บเกี่ยวหรือรังที่ถูกทำลายก่อนที่จะวางไข่ แต่หลังจากที่นกวางไข่แล้ว แม้รังถูกทำลายหรือถูกเก็บเกี่ยวไป นกจะไม่สร้างรังทดแทนอีก

รังแรกจะเริ่มสร้างประมาณเดือนกุมภาพันธ์ รังที่ 2 สร้างประมาณกลางเดือนมีนาคม และรังที่ 3 สร้างประมาณกลางเดือนเมษายน นกบางตัวเท่านั้นที่จะสร้างรังที่ 4 แม้จะเก็บเกี่ยวหรือไม่ก็ตาม แต่ถ้ามีการเก็บเกี่ยวรังที่ 4 ก็สามารถที่จะสร้างรังที่ 5 และ6 ทดแทนได้ ผสมพันธุ์ปีละ 3 ครั้งในกลางเดือนมกราคม,ต้นเดือนพฤษภาคม,กลางเดือนสิงหาคม เมื่อผสมพันธุ์แล้วจะรีบทำรังทันที ออกไข่ครั้ง 1-2 ฟอง กกไข่และเลี้ยงลูกจนรอดชีวิตในระยะเวลา 3 เดือน จากนั้นก็จะบินออกจากรังไปหาอาหารตั้งแต่ตีห้าไปจนพลบค่ำ

พ่อและแม่นกสร้างรังด้วยน้ำลายเป็นสีขาวลักษณะเหมือนถ้วยนำหนักรังเฉลี่ย 8 กรัม ใช้เวลาสร้าง 30 -45 วัน หลังสร้างรังเสร็จ จะผสมพันธ์ในเวลากลางคืนคืน จากนั้น 5 วันจะเริ่มวางไข่ใบแรกและวันที่ 8 จะวางไข่ใบที่ 2 (ครั้งละ 2 ฟอง) นำหนัก 1.2 กรัม ไข่จะฟักในเวลา 21-29 วัน 1สัปดาห์หลังจากการฟัก ขนจะเริ่มขึ้น และอายุ 2 สัปดาห์จะเริ่มเกาะรังพ่อและแม่นกจะหาอาหารมาให้ จนลูกนกมีขนขึ้นเต็มเมื่ออายุ 45 วัน (อัตราการรอดของนกที่อาศัยตามถ้าธรรมชาติ 20 % แต่อัตราการรอดของนกที่อาศัยตามบ้านนกหรือคอนโดนกมีถึง 64.4 % ) พร้อมเริ่มผสมพันธ์ เมื่ออายุ 8 เดือนผสมพันธ์ปีละประมาณ 3 ครั้ง มีชีวิตได้ถึง 12-15 ปี ถ้ามีการเก็บรังก่อนที่จะวางไข่ พ่อและแม่นกจะสร้างรังขึ้นใหม่และเลื่อนการวางไข่ออกไป (ใน 1 ปีจะได้รัง 2-3 รัง / 1 คู่)

เกร็ดความรู้
  • นกแอ่นสามารถพบเห็นเกือบทุกภาคของไทย
  • นกแอ่นสามารถบินครอบคลุมพื้นที่ 50 กิโลเมตรได้อย่างง่ายดาย
  • นกแอ่นมีความจำที่ยอดเยี่ยม สามารถบินกลับสู่รังของตัวเองในที่มืดได้อย่างแม่นยำ ทั้งที่มีรังนกแอ่น อื่นๆอีกเป็นพันๆรัง
  • นกแอ่นออกจากรังหรือที่เกาะเพื่อออกหาอาหารเวลาประมาณ 5.30 น.- 6.30 น. และกลับประมาณ 18.15 น. - 19.15 น.
  • นกแอ่นบางตัวจะกลับรังประมาณ 12.00 น. เพื่อให้อาหารลูกอ่อน ขณะที่นกแอ่นบางส่วนกกไข่
  • นกแอ่นจับคู่กันตลอดกาล เป็นที่รู้จักกันดีถึงความซื่อสัตย์ จงรักภักดีต่อคู่รัก
  • นกแอ่นทั้งตัวผู้และตัวเมียต่างช่วยกันทำรังจากน้ำลาย โดยใช้ช่วงเวลากลางคืนทำรัง
  • นกแอ่นทั้งตัวผู้และตัวเมียต่างช่วยกันกกไข่ โดยสลับหน้าที่กัน
  • นกแอ่นมีศัตรูที่สำคัญ ได้แก่ งู ค้างคาว เหยี่ยว หนู ตุ๊กแก แมลงสาป
___________________________________________________________


ข้อมูลทางโภชนาการ


จากการค้นคว้าข้อมูลทางโภชนาการของรังนกโดยสถาบัน Food Research International (www.Elsevier.com/locate/foodres) พบว่าโปรตีนในรังนกมีคุณสมบัติแตกต่างจากโปรตีนทั่วๆไป ดังนี้
  • มีคุณสมบัติเป็น Bactericidal ในเชื้อแบคทีเรีย
  • ทำให้เกิดปฏิกิริยา Haemaglutination ในเชื้อไวรัส
  • เป็นตัวเร่งให้เกิดการสร้างผิวหนังทดแทน (Epidermal Growth Factor)
  • มีกรดเซียริก (Sialic acid) ซึ่งไม่สามารถพบได้ในโปรตีนทั่วไป โปรตีนในรังนกจึงมีค่ามากกว่า คำว่า “โปรตีน”

ศูนย์แพทย์แผนโบราณของจีน ( Traditional Chinese Medicine, TCM) ได้แนะนำให้รับประทานรังนกเพื่อรักษาโรคต่างๆดังนี้
  • ผู้ป่วยที่รักษาโรคทางเดินหายใจ ภูมิแพ้ เหนื่อยง่าย หอบ ไอ
  • ใช้รักษาปรับสมดุลร่างกาย ทำให้จิตใจและสภาพร่างกายปกติ
  • ใช้สำหรับรักษาโรคมะเร็ง คนไข้หลังผ่าตัด ช่วยสมานแผลให้เร็วขึ้น
  • ใช้สำหรับผู้ป่วยโรคเอดส์ (เพิ่มภูมิต้านทาน)
  • ใช้สำหรับชลอการเสื่อมของเซลล์ในร่างกาย

"รังนกแอ่น" ยังเป็นอีกหนึ่งในผลิตภัณฑ์อาหารเสริม ที่กำลังได้รับความนิยม เพราะช่วยบำรุงกำลังให้ร่างกายสดชื่น แข็งแรง แก้อาการอ่อนเพลีย แก้ไอ ขับเสมหะ ไอเป็นเลือด และยังค้นพบอีกว่า ในคนที่สูบบุหรี่จัด การรับประทานรังนกนางแอ่นเป็นประจำทุกเช้า จะช่วยให้ร่างกายกระปรี้กระเปร่า ลดอาการไอและช่วยฟอกปอด
อีกทั้งมีการตรวจสอบสารประกอบในรังนกนางแอ่น ของ Mr.Biddle และ Mr.Belyavin พบว่า รังนกนางแอ่น สามารถยับยั้งการเกิดเชื้อไวรัสไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยับยั้งการเกิดโรคมะเร็ง รวมถึงช่วยให้ผู้ป่วยโรคเอดส์ที่ผ่านการรักษา โดยใช้รังสีฟื้นตัวได้เร็วขึ้น นอกจากนั้นสาร Epidermal Growth Factor ในรังนกนางแอ่น ยังมีคุณค่าต่อระบบเลือดช่วยบำรุงผิวพรรณให้อ่อนกว่าวัย ชะลอความแก่ (Antiaging) และทำให้อายุยืนอีกด้วย

จากการที่รังนกนางแอ่นได้รับการยอมรับว่า เป็นอาหารเสริมที่มีคุณค่าต่อร่างกายมาก แต่เนื่องจากมีราคาสูง จึงมีการระบาดของ "รังนกปลอม" ออกสู่ท้องตลาดทั่วไป ในราคาเพียงถุงละ 20-30 บาท อีกทั้งรูปลักษณ์ภายนอกของรังนกแท้และรังปลอม คล้ายคลึงกันมาก จนไม่สามารถแยกได้ด้วยการมอง หลายคนจึงเข้าใจว่า ให้ประโยชน์ใกล้เคียงกับรังนกแท้ แต่ที่จริงแล้วสองชนิดนี้ให้คุณค่าที่แตกต่างกันมาก

รังนกปลอมส่วนใหญ่จะผลิตจากสาร "กัม" (gum) ชนิด "คารายากัม" มีลักษณะเหนียวหนืดคล้ายวุ้น เมื่อนำไปต้มจะมีรูปลักษณ์คล้ายรังนกแท้มาก เพียงแต่ไม่มีกลิ่นคาวตามธรรมชาติเหมือนรังนกแท้เท่านั้นเอง สารกัมจะให้สารอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต ชนิดที่ร่างกายไม่สามารถดูดซึมได้ ซึ่งแตกต่างจากรังนกแท้อย่างสิ้นเชิง เพราะใน 100 กรัมของรังนกแท้จะให้โปรตีนสูงถึง 54% คาร์โบไฮเดรต 23.3% น้ำ 16.2% และไขมันอีก 0.3% จึงถือได้ว่าเป็นอาหารชั้นสูงเทียบเท่ากับโสม ปลิงทะเล เขากวางอ่อน หรือหูฉลามเลยทีเดียว

ดังนั้น การจ่ายแพงกว่าเพื่อสิ่งที่ดีกว่า ดูจะเป็นเรื่องที่สมเหตุสมผลมิใช่หรือ แต่อย่างที่กล่าวมาแล้วว่า การจะแยกรังนกแท้กับรังนกปลอมด้วยตาเปล่าเป็นเรื่องยากมาก จึงอาจมีผู้จำหน่ายบางรายวางขายรังนกปลอม ดังนั้นควรเลือกซื้อจากผู้ผลิตหรือจำหน่ายที่เชื่อถือได้ มีหลักแหล่งที่แน่นอนซึ่งหากเป็นผลิตภัณฑ์ที่บรรจุในภาชนะที่ปิดผนึกเรียบ ร้อย พร้อมจำหน่ายให้ลูกค้าในทันทีนั้น ต้องดูที่ฉลากแสดงรายละเอียดของผลิตภัณฑ์ เป็นภาษาไทย เช่น ชื่ออาหาร ชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิต และที่สำคัญคือ มีเครื่องหมาย อย. ซึ่งแสดงว่า สินค้านั้นได้รับการอนุมัติจากองค์การอาหารและยาว่า เป็นสินค้าที่ปลอดภัยต่อผู้บริโภคอย่างแน่นอน


<< กลับหน้า 1___________อ่านต่อหน้า 3 >>


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

จากใจผู้จัดทำ Blog.

ข้อมูลวิชาความรู้ต่างๆ ที่ผู้จัดทำบล็อกได้นำมาเสนอนี้ เป็นการรวบรวมข้อมูลมาจากหลายๆแหล่งข้อมูล มีทั้งข้อมูลเชิงวิชาการ ข้อมูลเชิงธุรกิจ และข้อมูลทางเทคนิค ที่สามารถช่วยส่งเสริมให้ผู้ที่ต้องการทำฟาร์มนกแอ่นกินรัง ให้สามารถประสบผลสำเร็จในการทำธุรกิจฟาร์มนกแอ่นด้วยตัวเองได้

ดังนั้น หากข้อมูลต่างๆที่ผู้จัดทำบล็อกได้นำมาเสนอนี้ สามารถสร้างความสำเร็จแก่ผู้ทำธุรกิจ หรือผู้ที่กำลังสนใจจะลงทุนทำฟาร์มนกแอ่น ตลอดจนสามารถส่งเสริมให้คนหันมาสนใจอนุรักษ์และขยายพันธุ์นกแอ่น
คุณงามความดีต่างๆเหล่านี้ขอมอบแด่ครูบาอาจารย์ ที่ผู้จัดทำบล็อกได้นำข้อมูลของท่านเหล่านั้นมานำเสนอ
และหากมีข้อผิดผลาดประการใดผู้จัดทำบล็อกขอน้อมรับไว้แต่เพียงผู้เดียว

ขอขอบพระคุณ

อ.ศุภลักษณ์ วิรัชพินทุ (ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ภาคชีววิทยา ม.นเรศวร)
http://gotoknow.org ข้อมูลลักษณะทางชีววิทยาของนกแอ่นกินรัง

อ.เทพชัย อริยะพันธุ์ (อดีตนายกสมาคมท่องเที่ยว จ.ยะลา)
http://swiftletlover.blogspot.com ข้อมูลเคล็ดลับและเทคนิคต่างๆในการทำฟาร์มนกแอ่น

อ.ประทีป ด้วงแค (ภาควิชาชีววิทยาป่าไม้ ม.เกษตรศาสตร์)
http://www.biotec.or.th ข้อมูลทางการค้าการทำธุรกิจรังนก

อ.เกริกวิชญ์ กฤษฎาพงษ์
http://www.baannatura.com ข้อมูลการใช้ประโยชน์จากพลังธรรมชาติ

ข้อมูลการจำแนกลักษณะของนกแอ่น
www.oknation.net



"ขุนเขาไว้ไมตรีกับกรวดดิน
ขุนเขาจึงยิ่งใหญ่และสูงชัน..

ขอบฟ้าไว้ไมตรีกับหมอกควัน
ขอบฟ้านั้นจึงงดงาม.."


ด้วยความเคารพ....นายฐิติพันธ์ วสุธาภิรมย์