หน้า 1 นกแอ่นกับนกนางแอ่น

หน้า 1
ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักกันก่อนว่าหน้าตานกแอ่นกับนกนางแอ่นหน้าตานั้นเป็นอย่างไร
การจำแนกลักษณะนกแอ่น
เนื้อหาในส่วนนี้จะเน้นเรื่องความแตกต่างระหว่างนก 2 ตระกูลที่มีรูปแบบการหากินโดยการบินฉวัดเฉวียนจับแมลงกลางอากาศเหมือนกัน ซึ่งก็คือ นกแอ่น (Swift) และ นกนางแอ่น (Swallow) ซึ่งนักดูนกส่วนใหญ่รู้จักกันดีอยู่แล้ว โดยทั่วไป เรามักคุ้นเคยกับชื่อนกนางแอ่นมากกว่า โดยเข้าใจว่านกตัวเล็กๆที่เอาแต่บินไปบินมาทั้งวี่ทั้งวันเป็นฝูงๆ พอตกเย็นก็จะเกาะอยู่ตามสายไฟฟ้า ปล่อยอุจจาระเรี่ยราดเต็มพื้นถนนสีลมไปหมด รวมไปถึงรังนกที่ถูกนำมาแปรรูปเป็นอาหารด้วย (จริงๆแล้วเป็นรังของนกแอ่น) แท้จริงแล้วมีทั้งนกแอ่นและนกนางแอ่นหลายชนิดเลยทีเดียวที่อยู่ใกล้ตัวเรา โดยเฉพาะนกแอ่นบ้าน (House Swift) และนกนางแอ่นบ้าน (Barn Swallow) ที่แม้ว่าจะถูกตั้งชื่อไทยได้อย่างเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมที่มันอยู่อาศัย แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าสร้างความสับสนในการเรียกอยู่เนืองๆ จริงๆแล้วการจำแนกนกแอ่นและนกนางแอ่นเป็นอะไรที่สนุกและไม่ยากอย่างที่คิด (ซึ่งตรงนี้ต้องยอมรับว่ามีข้อยกเว้นอยู่บ้าง เช่น กลุ่มของนกแอ่นกินรังและนกแอ่นพันธุ์หิมาลัย) ความยากของมันอยู่ตรงที่พวกมันมักจะบินอยู่สูงเกินไปจนอาจจะทำให้เห็นรายละเอียดของมันไม่ชัดเจนมากกว่าจริงๆแล้วนกแอ่นและนกนางแอ่นมีความเกี่ยวพันธ์ทางวิวัฒนาการที่ห่างไกลกันมาก ถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของ convergent evolution ที่หมายถึงสัตว์ที่มีลักษณะภายนอกคล้ายคลึงกันทั้งที่ไม่ได้มีการวิวัฒนาการ ที่ใกล้ชิดกัน เรามาดูข้อแตกต่างของนก 2 กลุ่มนี้กันครับ

นกแอ่น (Swifts) และนกแอ่นฟ้า (Treeswifts)

ใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่บนท้องฟ้า แม้แต่การจับคู่ผสมพันธุ์ก็ทำได้ในขณะที่บินอยู่ บางชนิดสามารถนอนหลับในขณะร่อนอยู่บนฟ้าได้ มีญาติที่ใกล้ชิดที่สุดคือ Hummingbird ที่ในปัจจุบันพบได้เฉพาะในทวีปอเมริกาโครงสร้างทางร่างกายและพฤติกรรมของนกแอ่นและนกฮัมมิ่งเบิร์ดบ่งชี้ว่ามี บรรพบุรุษเดียวกันกับกลุ่มของนกตบยุง (Nightjar) และนกปากกบ (Frogmouth)อันดับนกแอ่น (Apodiformes) ซึ่งประกอบด้วยนกแอ่นและนกฮัมมิ่งเบิร์ด เป็นอันดับของนกที่มีความหลากหลายทางชนิดพันธุ์มากที่สุดรองจากอันดับนกเกาะคอน (Passeriformes) โดยมีจำนวนนกทั้งหมดเกือบ450 ชนิด ขณะที่อันดับนกเกาะคอนมีจำนวนไม่น้อยกว่า 5,000 ชนิด ซึ่งเกินกว่าครึ่งหนึ่งของนกทั้งหมดนกแอ่นมีนิ้วเท้าแบบ Pamprodactyly ซึ่งสามารถขยับนิ้วที่ 4 ให้ชี้ไปด้านหน้า เพื่อใช้ในการเกาะในแนวตั้งด้วยเหตุนี้เราจึงไม่พบนกแอ่นเกาะบนต้นไม้หรือสายไฟฟ้า ส่วนนกแอ่นฟ้าและนกฮัมมิ่งเบิร์ดมีนิ้วเท้าแบบAnisodactyly ซึ่งมี 3 นิ้วชี้ไปด้านหน้า โดยไม่สามารถขยับนิ้วที่ 4 (ที่ชี้ไปด้านหลัง)ให้ชี้มาทางด้านหน้าได้เราจึงพบนกแอ่นฟ้าเกาะสายไฟฟ้าในลักษณะเดียวกับนกส่วนใหญ่ นกแอ่นทำรังโดยใช้น้ำลายทำหน้าที่เป็นกาวยึดรังของมันติดกับผนัง รังของนกแอ่นบางชนิด เช่น นกแอ่นกินรัง มีส่วนประกอบเป็นน้ำลายล้วนๆ

เกร็ดน่ารู้

นกนางแอ่น (Swallows and Martins)

VDO นกนางแอ่นบ้านทำรังด้วยโคลน (ฺBarn swallows)

นกนางแอ่นเป็นนกในอันดับนกเกาะคอน (Passeriformes) ซึ่งเป็นอันดับที่มีความหลากหลายที่สุด และมีนิ้วเท้าเป็นแบบ Anisodactyly ทั้งหมด (3 นิ้วชี้ไปด้านหน้า และ 1 นิ้วชี้ไปด้านหลัง) นกนางแอ่นอยู่ในกลุ่มSongbird ที่มีการวิวัฒนาการของกล่องเสียงจนสามารถส่งเสียงร้องที่มีความสลับซับซ้อนได้ ผลจากการวิเคราะห์ทาง DNA พบว่านกนางแอ่นจัดอยู่ใน Superfamily Sylvioidea เช่นเดียวกันกับนกอีกหลายวงศ์ เช่น นกจาบฝน นกกระจิ๊ด นกกระจ้อย นกติ๊ดหัวแดง นกพง นกพงตั๊กแตน นกปรอด นกกระจิบ นกแว่นตาขาว นกกินแมลงและนกปากนกแก้ว หลายชนิดทำรังในโพรงไม้หรือโพรงดินใกล้น้ำ บางชนิดทำรังโดยใช้โคลนยึดติดกับหน้าผาหรือผนังสิ่งก่อสร้างของมนุษย์ ในฤดูผสมพันธุ์นกนางแอ่นหลายชนิดจะก้าวร้าวห่วงถิ่นมากโดยมันไม่ลังเลเลยที่จะส่งเสียงเตือนและบินขับไล่นกล่าเหยื่อให้ออกไปจากอาณาเขต

เกร็ดน่ารู้

  • นางนางแอ่นตัวผู้ถือเป็นพ่อที่ขยันเลี้ยงลูกมากที่สุดในนกเกาะคอนทั้งหมด
การจำแนกขณะบิน

นกแอ่น นกนางแอ่น

  • ปีกนกแอ่นจะแคบยาวกว่า และโค้งไปด้านหลังทำให้มีรูปทรงของปีกทั้งสองข้างคล้ายบูมเมอแรง ฐานปีกนกนางแอ่นจะกว้างกว่าอย่างเห็นได้ชัด มีปลายปีกแหลมทำให้ปีกเป็นรูปทรงสามเหลี่ยม
  • ในชนิดที่มีหางยาว หางของนกแอ่นจะเป็นรูปทรงกรรไกรแบบเดียวกันกับหางปลาตะเพียน ในขณะที่หางนกนางแอ่นชนิดที่มีหางยาวนั้น เมื่อกางออกจะเห็นเป็นทรงเว้า เนี่องจากขนหางคู่นอกยาวกว่าขนเส้นอื่นๆมาก แต่บางครั้งนกแอ่น(และนกแอ่นฟ้า)หุบปลายหางทั้งสองด้านเข้าด้วยกันจนเห็น เป็นหางแหลมยาวออกมา เพื่อเร่งจังหวะในการบิน
  • นกแอ่นมักมีสีดำหรือ น้ำตาลเข้มทั่วทั้งตัว (น้อยมากที่จะพบว่ามีสีดำเหลือบ) ในขณะที่นกนางแอ่นมักจะมีหลังสีน้ำตาลเช่นเดียวกับนกแอ่นหรือเป็นสีเข้ม เหลือบสะท้อนแสงและมีลำตัวด้านล่างสีอ่อน อาจมีบางส่วนของร่างกายเป็นสีส้มหรือสีแดง
  • ตามปกติแล้วนกแอ่นกระพือปีกรวดเร็วและถี่กว่านกนางแอ่น ลักษณะการบินของนกแอ่นดูคล้ายของค้างคาวขนาดเล็ก
  • นกแอ่นมักบินหากินอยู่สูงจากพื้นดินมาก ส่วนใหญ่จะลงมาในระดับต่ำเพื่อกินน้ำเท่านั้น ในขณะที่นกนางแอ่นโดยทั่วไปหากินในทุกระดับตั้งแต่บนพื้นดิน
การจำแนกแต่ละชนิด

1. นกแอ่นกินรัง / Germain's Swiftlet (Callocalia germani)

สถานภาพ - นกประจำถิ่น พบมากในปริเวณปากแม่น้ำและใกล้ชายฝั่งทะเล

การบิน - มักตีปีกถี่ๆในทิศทางเฉียงขึ้นสลับกับการร่อน ในบางครั้งอาจพบร่อนอยู่สูงบนท้องฟ้า

จุดจำแนก - ปีกกว้าง หางตัด มีขอบมน (ในขณะหุบหางจะเห็นเป็นรูปทรงแฉกเล็กน้อย) พื้นลำตัวเป็นสีน้ำตาล บริเวณตะโพกเป็นสีอ่อนมากจนอาจเห็นเป็นสีขาว


2. นกแอ่นตาล / Asian Palm-Swift (Cypsiurus balasiensis)

สภาพถาพ - นกประจำถิ่น พบง่ายมาก กระจายอยู่ทั่วไป โดยเฉพาะตามสวน ชานเมือง และบริเวณที่มีต้นตาล

การบิน - มักกระพือปีกแบบไม่มีจังหวะตายตัวในทิศทางที่ไม่แน่นอน อาจร่อนบ้างเป็นระยะสั้นๆ

จุดจำแนก - มีรูปทรงผอมบางที่สุดใน 6 ชนิด พื้นลำตัวเป็นสีน้ำตาล ปีกยาว หางค่อนข้างยาวและแฉกลึก แต่บ่อยครั้งหุบหางเข้าจึงไม่เห็นว่าหางแฉก


3. นกแอ่นบ้าน / House Swift (Apus affinis)

สถานภาพ - นกประจำถิ่น พบมากในบริเวณที่มีตึกสูงและสะพานขนาดใหญ่ แต่ก็บินร่อนเร่หาอาหารไปทั่วทุกบริเวณ ในสภาพแวดล้อมอื่นๆที่ปราศจากสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่จะพบค่อนข้างน้อย

การบิน - กระพือปีกถี่ๆและบินในทิศทางตรง ร่อนเมื่อต้องการเปลี่ยนทิศทาง หรืออาจพบกางปีกร่อนอยู่สูงบนท้องฟ้า

จุดจำแนก - ปีกกว้างและยาว หางตัด พื้นลำตัวสีน้ำตาลเข้มจนเกือบดำ ในระยะใกล้จะเห็นคอและตะโพกสีขาว นกแอ่นตะโพกขาวหางแฉก (Fork-tailed Swift) ก็สามารถพบได้ในเขตปริมณฑลเช่นกันในช่วงฤดูกาลอพยพ มักพบบินอยู่สูงมากบนท้องฟ้าเป็นฝูง มีรูปทรงและตะโพกสีขาวคล้ายนกแอ่นบ้าน แต่มีหางแฉกเหมือนนกแอ่นตาล


4. นกนางแอ่นทรายสร้อยคอดำ / Common Sand-Martin (Riparia riparia)

สถานภาพ - นกอพยพในช่วงฤดูหนาว พบได้ค่อนข้างบ่อยตามทุ่งและแหล่งน้ำจืด

การบิน - แทบไม่ต่างจากนกนางแอ่นบ้าน แต่มีขนาดเล็กกว่าและมีสีสันต่างกันอย่างเห็นได้ชัด

จุดจำแนก - หางแฉกและสั้น มีขนาดเล็กเมื่อเทียบกับนกนางแอ่นอีกสองชนิด ลำตัวด้านบนและแถบคาดอกเป็นสีน้ำตาล คอสีขาว


5. นกนางแอ่นบ้าน / Barn Swallow (Hirundo rustica)

สถานภาพ - นกอพยพในช่วงฤดูหนาว พบได้บ่อยมากในทุกสภาพแวดล้อม

การบิน - กระพือปีกบินฉวัดเฉวียนเกือบจะตลอดเวลา อาจร่อนบ้างอย่างไม่สม่ำเสมอ ในบางครั้งบิ

นฉวัดเฉวียนถึงขนาดลอดใต้ท้องรถ

จุดจำแนก - เส้นหางคู่นอกยาว ตัวเต็มวัยมีหลังสีน้ำเงินเข้ม มีแถบคาดอก คอสีส้ม นกนางแอ่นแปซิฟิก (House Swallow) ไม่มีแถบคาดอกสีดำ หน้าผากสีส้มกว้างกว่า อกเป็นสีเทาอ่อน และก้นมีลายเกล็ด สามารถพบได้บ้างตามชายทะเลบางแห่ง


6. นกนางแอ่นตะโพกแดง / Red-rumped Swallow (Crecopis daurica)

สถานภาพ - นกอพยพในช่วงฤดูหนาว พบได้บ่อยตามที่โล่ง ชานเมือง และเรือกสวนไร่นา ไม่ค่อยพบในตัวเมือง มีขนาดใหญ่ที่สุดใน 6 ชนิด

การบิน - กระพือปีกอย่างรวดเร็วติดต่อกันสลับกับการร่อนยาวอย่างสม่ำเสมอ แต่ในเวลาหากินจะกระพือปีกบินอย่างฉวัดเฉวียน

จุดจำแนก - หางเว้า ก้นและหางเป็นสีดำ ขณะบินฉวัดเฉวียนจะเห็นแถบตะโพกสีอ่อนได้ชัดเจน ท้องสีขาว มีลายขีดบางๆซึ่งจะสังเกตเห็นได้ในระยะใกล้ ไม่มีแถบคาดอก


นอกจากนี้ยังมีนกอีกหลายชนิดที่มีวิธีหากินคล้ายกับนกแอ่นและนกนางแอ่น คือการบินฉวัดเฉวียนจับแมลงกินกลางอากาศ เช่น นกแอ่นทุ่งใหญ่ (Oriental Pratincole) และ นกแอ่นพง (Ashy Woodswallow) ซึ่งมีปีกกว้างและเป็นรูปทรงสามเหลี่ยมคล้ายนกนางแอ่นเวลาบินโฉบจับแมลงหากินบนท้องฟ้า แต่นกแอ่นพงมีเชื้อสายใกล้ชิดกับนกเฉี่ยวบุ้ง นกขมิ้น และอีกา มากกว่า และไม่ได้เป็นนกแอ่นชนิดหนึ่งแต่อย่างใด (credits www.oknation.net)

อ่านต่อหน้า 2 >>

2 ความคิดเห็น:

จากใจผู้จัดทำ Blog.

ข้อมูลวิชาความรู้ต่างๆ ที่ผู้จัดทำบล็อกได้นำมาเสนอนี้ เป็นการรวบรวมข้อมูลมาจากหลายๆแหล่งข้อมูล มีทั้งข้อมูลเชิงวิชาการ ข้อมูลเชิงธุรกิจ และข้อมูลทางเทคนิค ที่สามารถช่วยส่งเสริมให้ผู้ที่ต้องการทำฟาร์มนกแอ่นกินรัง ให้สามารถประสบผลสำเร็จในการทำธุรกิจฟาร์มนกแอ่นด้วยตัวเองได้

ดังนั้น หากข้อมูลต่างๆที่ผู้จัดทำบล็อกได้นำมาเสนอนี้ สามารถสร้างความสำเร็จแก่ผู้ทำธุรกิจ หรือผู้ที่กำลังสนใจจะลงทุนทำฟาร์มนกแอ่น ตลอดจนสามารถส่งเสริมให้คนหันมาสนใจอนุรักษ์และขยายพันธุ์นกแอ่น
คุณงามความดีต่างๆเหล่านี้ขอมอบแด่ครูบาอาจารย์ ที่ผู้จัดทำบล็อกได้นำข้อมูลของท่านเหล่านั้นมานำเสนอ
และหากมีข้อผิดผลาดประการใดผู้จัดทำบล็อกขอน้อมรับไว้แต่เพียงผู้เดียว

ขอขอบพระคุณ

อ.ศุภลักษณ์ วิรัชพินทุ (ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ภาคชีววิทยา ม.นเรศวร)
http://gotoknow.org ข้อมูลลักษณะทางชีววิทยาของนกแอ่นกินรัง

อ.เทพชัย อริยะพันธุ์ (อดีตนายกสมาคมท่องเที่ยว จ.ยะลา)
http://swiftletlover.blogspot.com ข้อมูลเคล็ดลับและเทคนิคต่างๆในการทำฟาร์มนกแอ่น

อ.ประทีป ด้วงแค (ภาควิชาชีววิทยาป่าไม้ ม.เกษตรศาสตร์)
http://www.biotec.or.th ข้อมูลทางการค้าการทำธุรกิจรังนก

อ.เกริกวิชญ์ กฤษฎาพงษ์
http://www.baannatura.com ข้อมูลการใช้ประโยชน์จากพลังธรรมชาติ

ข้อมูลการจำแนกลักษณะของนกแอ่น
www.oknation.net



"ขุนเขาไว้ไมตรีกับกรวดดิน
ขุนเขาจึงยิ่งใหญ่และสูงชัน..

ขอบฟ้าไว้ไมตรีกับหมอกควัน
ขอบฟ้านั้นจึงงดงาม.."


ด้วยความเคารพ....นายฐิติพันธ์ วสุธาภิรมย์